รัฐสภา 6 ส.ค.-นายกฯ แจงวุฒิสภา ร่าง พ.ร.บ.งบเพิ่มเติมฯ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ยันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังและ รธน. ด้าน สว.ยกเว้นข้อบังคับ ไม่เสียเวลาตั้ง กมธ.ศึกษา แต่ใช้ กมธ.เต็มสภา เพื่อความรวดเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมวุฒิสภาวันนี้ (6 ส.ค.)มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภาเป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติม กรอบวงเงิน 122,000 ล้านบาท ที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว โดยในวันนี้นายกรัฐมนตรี สวมผ้าไหมยกดอก สีดำ ยกดิ้นทอง ลายพิกุลแก้ว จากจังหวัดลำพูนมาชี้แจงงบประมาณด้วยตัวเอง ขณะที่บรรยากาศการประชุมวุฒิสภาวันนี้ วุฒิสมาชิก ต่างใส่เสื้อสีน้ำเงิน มาประชุม
นายนิรุตติ สุทธินนท์ สมาชิกวุฒิสภา ได้เสนอต่อที่ประชุมให้งดใช้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ในข้อที่ 138 โดยไม่ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ เพิ่มเติมฉบับนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่นางสาวรัชนีกร ทองทิพย์ สมาชิกวุฒิสภา ไม่เห็นด้วย เนื่องจากงบประมาณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และเป็นเงินกู้ทั้งหมด จึงขอให้ที่ประชุมฯ ได้ทบทวน
ด้าน นายกมล รอดคล้าย สมาชิกวุฒิสภา สนับสนุนข้อเสนอของนายนิรุตติ เพราะเห็นว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต้องใช้เวลา แต่เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องเร่งด่วนตามที่รัฐบาลเสนอ ดังนั้น การงดใช้ข้อบังคับการประชุมดังกล่าว ก็จะทำให้สามารถใช้กรรมาธิการเต็มสภาได้ และสามารถเสร็จสิ้นตามกำหนดเวลาได้ แต่ที่ประชุมไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ทำให้ต้องมีการลงมติ ซึ่งที่สุดแล้ว ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 161 เสียง ต่อ 17 เสียง เห็นชอบให้งดใช้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ไม่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ เพิ่มเติม โดยใช้กรรมาธิการเต็มสภาแทน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติม กรอบวงเงิน 122,000 ล้านบาท ต่อที่ประชุมวุฒิสภา ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว โดยย้ำว่า รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภค และการลงทุนในประเทศโดยเร่งด่วน ไม่สามารถรองบประมาณปี 2568 ได้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายประตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยยืนยันว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายวินัยการเงินการคลัง ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ
นายกรัฐมนตรี ยังย้ำความจำเป็นถึงการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลว่า กระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ให้เติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมาก จะไหลจากภาครัฐ ไปยังภาคเอกชน เกิดการสั่งซื้อสินค้า และบริการ ซึ่งเศรษฐกิจในไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว 2.0-3.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการฟื้นตัวการท่องเที่ยว การลงทุน และการส่งออกตามการฟื้นตัวของการค้าโลก แต่ก็ยังมีข้อจำกัด และปัจจัยเสี่ยง จากหนี้ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และความผันผวนเศรษฐกิจโลก รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายขาดดุล
ส่วนฐานะการคลัง และหนี้สาธารณะของประเทศนั้น นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ขณะนี้ หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 63.78 หรือราว 11 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ส่วนเงินคงคลังกว่า 394,000 ล้านบาท รัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารให้มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับ ฐานะและนโยบายการเงินของประเทศของไทย ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก มีเงินสำรองระหว่างประเทศกว่า 8 ล้านล้านบาท
นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันว่า รัฐบาลจะใช้จ่ายเงินภาษีของประชนชนให้มีประสิทธิภาพ กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลสู่ประชาชน และภาคธุรกิจ สร้างความเจริญเติบโตให้ดับประเทศ พัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย
พลตำรวจโทบุญจันทร์ นวลสาย สมาชิกวุฒิสภา ตั้งข้อสงสัยการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นการเพิ่มหนี้ให้กับประชาชนหรือไม่ และจากการลงพื้นที่ ประชาชนก็ยังสงสัยต่อการใช้เงินดิจิทัล และจะไปใช้จ่ายต่ออย่างไร ทำไมไม่จ่ายเป็นเงินสด จึงตั้งข้อสงสัยว่า จะเป็นการเอื้อประโยชน์จริงหรือไม่ และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง หรือเป็นเพียงการหาเสียงล่วงหน้า พร้อมยังเห็นว่า การเปิดลงทะเบียนประชาชนนั้น อาจจำให้ประชาชนดีใจเล่น ๆ และยังระบุอีกว่า การลงทะเบียนนั้น ชาวบ้านต้องไปซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ 4,000 บาท จนเงินหายไปแล้ว 4,000 บาทจาก 10,000 บาท พร้อมยังแสดงความกังวลว่า การแจกเงินหมื่นจากรัฐบาล จะทำให้ประชาชนเสียนิสัย.-312.-สำนักข่าวไทย