สกศ.30 ส.ค.-สกศ. ชี้ปรับทิศผลิตคนตรงเทรนด์แรงงานโลก เรียนการบินดาวรุ่ง 500,000อัตราจ่อคิวแย่งตัว
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุม “สภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum)” ครั้งที่ 21 เรื่องทิศทางการศึกษาเฉพาะทางเพื่อผลิตกำลังคนตามความต้องการของประเทศ โดย นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุม ได้รับความสนใจจากนักวิชาการ ผู้แทนหน่วยจัดการศึกษาเฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสื่อมวลชน ร่วมเสวนาวิชาการ ณ ห้องกำแหง พลางกูร อาคาร 56 ปี สกศ.
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (รร.นรต.) กล่าวว่า รร.นรต.เป็นหน่วยงานจัดการศึกษาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตนักเรียนนายร้อยตำรวจ(นรต.) เข้าสู่ระบบตำรวจทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและรักษาความสงบทั่วประเทศซึ่งมีการประกันคุณภาพการศึกษาผู้จบออกมามีตำแหน่งบรรจุทุกนาย ผลิตกำลังตำรวจชั้นสัญญาบัตร เฉลี่ยปีละ 1,200 นาย ซึ่งทิศทางการผลิต นรต. ในรูปแบบอะคาเดมีคือเป็นสถาบันการศึกษา ที่มีหน้าที่ผลิตผู้ทำหน้าที่ดูแลประชาชน จึงเน้นการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับให้สอดคล้องกับการปฏิรูปตำรวจ ภายใต้วิสัยทัศน์สถาบันหลักของประเทศในการผลิตบุคลากรที่มีความเป็นเลิศในวิชาชีพตำรวจ และการบังคับใช้กฎหมาย ยึดมั่นคุณธรรม มีจรรยาบรรณ และเป็นสากล ขับเคลื่อนตามแนวทางสมาร์ท อะอาเดมี (Smart Academy) นรต.จึงต้องเรียนรู้วิชาการด้านวิชาชีพตำรวจและการบังคับใช้กฎหมายจากประสบการณ์จริง สร้างจิตสำนึกและความภูมิใจในสถาบันและวิชาชีพตำรวจ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ตั้งเป้าหมายภายในปี 2564 รร.นรต.จะเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิชาการตำรวจของอาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มีความสลับ ซับซ้อนและเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น เช่น อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
พล.ร.ต.ปิยะ อาจมุงคุณ ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กล่าวว่า สบพ.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่ในการอบรมและผลิตบุคลากรด้านการบินทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ ตามมาตรฐานระดับสากลที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ไอซีเอโอ) กำหนดไว้ สำหรับทิศทางการจัดการศึกษาเฉพาะทางด้านการบินในอนาคต ไอซีเอโอ ประเมินความต้องการการเดินทางทางอากาศในอีก 20 ปี ภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก มีการเติบโตสูงที่สุด โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนของสาธารณรัฐประชาชนจีน อันดับ 1ส่งผลให้บริษัทผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ 2 ค่ายคือทั้ง แอร์บัส และ โบอิ้ง เพิ่มกำลังการผลิตเครื่องบินมากทั่วโลก 40,000 ลำ ในจำนวนดังกล่าวเป็นเครื่องบินสำหรับโดยสารในภูมิภาคเอเซีย – แปซิฟิก 16,000 ลำ หรือราวร้อยละ 34 อัตราความต้องการกำลังคนด้านอุตสาหกรรมการบินในตำแหน่งต่าง ๆ มากถึง 500,000 อัตรา ทั้งในระดับนักบินและช่างอากาศยานต่าง ๆ ในระบบการบิน
ดังนั้น สบพ. จึงเร่งผลิตกำลังคนรองรับการเติบโตดังกล่าว ซึ่งรับรองว่าผู้จบการศึกษา สบพ. ทุกระดับไม่ตกงานแน่นอน มีตำแหน่งงานรองรับทันทีเมื่อจบการศึกษา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้ภาคเอกชนและธุรกิจการบินเข้ามาสนับสนุน สบพ.คือการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ เพื่อนำมาปรับหลัก สูตรการเรียนการสอนที่เหมาะสม และการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ สร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติตามแนวทางประเทศไทย 4.0
ด้านนายชัยยศ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะและแนวทางที่เป็นประโยชน์จากการเสวนาครั้งนี้ สกศ. มองเห็นถึงกรอบการผลิตกำลังคนที่มีทักษะเฉพาะทางรองรับการพัฒนาประเทศยุค 4.0 ทั้งด้านความรู้ สร้างให้เกิดมาตรฐานวิชาชีพ ด้านทักษะ ผู้จบการศึกษาแล้วสามารถทำงานได้ทันทีอย่างมีมาตรฐานสากล และด้านเจตคติ สร้างคนที่มีทัศนคติ ค่านิยม และจรรยาบรรณที่ดีในวิชาชีพ ถือเป็นความท้าทาย 3 ประการ คือ 1.วางฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเตรียมคนสู่ระบบการศึกษาเฉพาะทาง 2.การพยากรณ์ ความต้องการกำลังคนในอุตสาหกรรมการบินต่างๆ ที่มีตำแหน่งงานใหม่ๆ มาถึง 500,000 อัตรา ในอีก 5 ปีข้างหน้า และ 3.อาชีพใหม่ ที่มีหลากหลาย นำไปสู่การใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ(NQF) เพื่อสร้างกำลังคนที่มีทั้งความรู้และสมรรถนะรองรับการพัฒนาประเทศ โดย สกศ. จะสรุปข้อเสนอและแนวคิดที่เป้นประโยชน์เพื่อจัดทำนโยบายการศึกษาต่อไป.-สำนักข่าวไทย