เหลือ 5 วันรับฟังความเห็นแนวเขต อช.ทับลาน “ชัยวัฒน์” ห่วงป่า 2.6 แสนไร่หาย

กรุงเทพฯ 8 ก.ค.-อีกเพียง 5 วันจะปิดรับฟังความคิดเห็น เรื่องปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามที่ครม. มีมติให้ใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ของ One Map ที่ คทช. เสนอ “ชัยวัฒน์” ห่วงป่าอุทยานแห่งชาติทับลานถูกเฉือนกว่า 2.6 แสนไร่

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติกล่าวว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่อง การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายนและจะสิ้นสุดในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ โดยมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน 2 ช่องทางคือ การประชุมในพื้นที่เมื่อวันที่ 4 และ 5 กรกฎาคมที่จังหวัดปราจีนบุรีและนครราชสีมาและทาง เว็บไซต์ https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=37163 ซึ่งการแสดงความเห็นทางเว็บไซต์เหลืออีกเพียง 5 วันเท่านั้น


ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานใหม่ตามการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน (จังหวัดนครราชสีมาและปราจีนบุรี) แจ้งมติคณะทำงานพิจารณาปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ภายใต้คณะอนุกรรมการการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 เห็นชอบผลดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบหมายกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำเรื่องเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 โดยให้ส่วนราชการดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่อไป สำหรับพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ที่จะผนวกเพิ่มประมาณ 110,000 ไร่ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป

อุทยานแห่งชาติทับลานมีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี และอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมาและอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,387,375 ไร่ หรือ 2,235.80 ตารางกิโลเมตร


ทั้งนี้ ในการกำหนดพื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานแห่งชาติ การขยายอุทยานแห่งชาติ หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ ตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้สงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง และบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน

หากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่นี้ จะมีผลทำให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ แม้จะมีการเสนอผนวกพื้นที่ทางตอนเหนือในท้องที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 80,000 ไร่ ยังไม่สามารถยืนยันว่า จะผนวกเพิ่มได้หรือไม่ เนื่องจากพบว่า มีราษฎรถือครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังอยู่ในขั้นตอนของการหาข้อยุติกับกรมป่าไม้ เนื่องจากมีแผนงานโครงการปลูกป่าที่มีงบประมาณต่อเนื่อง นอกจากนี้มีการจัดตั้งป่าชุมชนไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว

ทั้งนี้ ในการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้สงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง และบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ ด้วย


นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานเนื่องจากจะทำให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานลดน้อยไป 265,000 ไร่ ในส่วนการทำกินของราษฎร กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สำรวจการถือครองที่อยู่ที่ทำกินของราษฎรที่อยู่ดั้งเดิมและอนุญาตให้อยู่อาศัยทำกินได้ซึ่งทั่วประเทศดำเนินการแล้ว 4.27 ล้านไร่ โดยห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือ แสดงให้เห็นว่า ตามพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติและพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ. 2562 มีการจัดการอย่างดีอยู้แล้ว แต่หากถูกกันพื้นที่ออกไปและมอบให้หน่วยงานอื่นดำเนินการเชื่อว่า การซื้อขายเปลี่ยนมือจะเกิดขึ้นแน่นอน

การใช้เส้นแนวเขตสํารวจอุทยานแห่งชาติทับลานปี พ.ศ. 2543 ให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลานอาจกระทบต่อแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” เนื่องจากพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ซึ่งประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่

ผืนป่าแห่งนี้มีบทบาทสําคัญในการเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและเป็นต้นน้ำลำธารที่ไหลหล่อเลี้ยงการดํารงชีวิตของชุมชนต่างๆ ในภูมิภาคโดยรอบ ทั้งแม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำลําตะคอง แม่น้ำมวกเหล็ก และแม่น้ำมูล เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ดังนั้นการใช้เส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี พ.ศ. 2543 อาจส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในอนาคต เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบสิ่งปลูกสร้าง และการเกษตร เกิดการขุด เคลื่อนย้าย ถม อัด และเกิดการกัดเซาะพังทลายของดิน ในพื้นที่ดังกล่าวมากยิ่งขึ้น และเกิดการตัดไม้ ทําลายสภาพพืชพรรณในบริเวณนั้น จะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิประเทศ เป็นเหตุให้ผิวดินขาดสิ่งปกคลุม ตลอดจนอาจทําให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัย หากินหรือเส้นทางอพยพเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า เนื่องจากกิจกรรมชองมนุษย์เข้าไปรบกวนสัตว์ป่าตามรอบแนวเขตเกินความสามารถในการควบคุมในพื้นที่

นายชัยวัฒน์กล่าวย้ำว่า ในอีก 5 วันที่เหลือจึงขอให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นทางเว็บไซต์ https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=37163 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสถานะความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

สำหรับขั้นตอนหลังจากการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานซึ่งจะดำเนินการถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจะรวบรวมความคิดเห็นทั้งเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งเสนอต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติพิจารณา จากนั้นกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะจัดทำแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ เพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาฯ และส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต่างหวังให้การจำแนกพื้นที่ดังกล่าวออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเสร็จสิ้นโดยเร็ว แล้วมาดำเนินการตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ขณะที่องค์กรหรือกลุ่มด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาชนที่รักป่าต้องการให้มีผู้ร่วมแสดงความไม่เห็นชอบกันมากที่สุด หวังให้เป็นน้ำหนักให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเสนอผลการความไม่เห็นชอบกลับไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อทบทวนมติมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เรื่องการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานใหม่ตามการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องเสียเนื้อที่ป่า 265,000 ไร่ออกจากอุทยานแห่งชาติทับลาน.-512.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

นร.หญิง ม.1 จมทะเลดับ หลังโรงเรียนพาไปทัศนศึกษาที่ระยอง

โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา พานักเรียนไปทัศนศึกษาที่ จ.ระยอง นักเรียนหญิง ม.1 ถูกคลื่นดูดลงทะเลขณะเล่นน้ำ เสียชีวิต พ่อแม่สุดเศร้าสูญเสียลูกสาวคนเดียวของครอบครัว

น้ำท่วมเชียงใหม่

เชียงใหม่จมบาดาล น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์

น้ำท่วมในตัวเมืองเชียงใหม่ ยังวิกฤติ หลังน้ำในลำน้ำปิงขึ้นสูงสุดทรงตัวสูงกว่า 5.30 เมตร ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีการวัดระดับน้ำปิง

น้ำท่วมขนส่งเชียงใหม่กระทบผู้โดยสาร เปิดจุดจอดรับ-ส่งชั่วคราว

น้ำขยายวงกว้างเข้าท่วมสถานีขนส่งเชียงใหม่แห่งที่ 2 และ 3 เต็มพื้นที่ ระดับน้ำสูงเกือบ 50 ซม. ผู้ประกอบการขนส่งต้องนำรถทัวร์โดยสารออกมาจอดรับ-ส่งบนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ยืนยันผู้ประกอบการยังให้บริการตามปกติ

ระทึก! แท็กซี่พลิกคว่ำเกิดเพลิงไหม้ 5 ชีวิตรอดหวุดหวิด

รถแท็กซี่พลิกคว่ำและเกิดเพลิงลุกไหม้กลางถนนพระราม 9 ผู้โดยสารหญิงสติดีถีบประตูช่วยตัวเองและคนอื่นออกมาจากตัวรถรวม 5 ชีวิตได้ทัน แต่ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 1 คน เป็นคนขับแท็กซี่ ตำรวจเร่งสอบสวนหาสาเหตุ

ข่าวแนะนำ

นายกฯ สั่งเรียกประชุมด่วน ปัญหาความปลอดภัยทางถนน

นายกฯ สั่งด่วน เรียกประชุมคณะกรรมการป้องกันปัญหาความปลอดภัยทางถนนของไทยและทุกรูปแบบการคมนาคม พรุ่งนี้ เตรียมขันนอต รับฟังแนวทางแก้ไข

ตลาดวโรรสจมบาดาลกว่า 24 ชม. ระดับน้ำปิงทรงตัวสูงเกือบ 5 เมตร

น้ำปิงที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ ยังสูงเกือบ 5 เมตร ทำให้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ยังวิกฤติ หลายพื้นที่เร่งอพยพผู้คน ส่วนตลาดวโรรส หรือกาดหลวง ยังถูกน้ำท่วมสูง

อีสานอากาศเย็นตอนเช้า ตอนบนมีฝนน้อย

กรมอุตุฯ รายงานอีสานอากาศเย็นในตอนเช้า ไทยตอนบนมีฝนน้อย ส่วนภาคใต้ฝนตกหนักบางแห่ง ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

น้ำท่วมเชียงใหม่

เชียงใหม่จมบาดาล น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์

น้ำท่วมในตัวเมืองเชียงใหม่ ยังวิกฤติ หลังน้ำในลำน้ำปิงขึ้นสูงสุดทรงตัวสูงกว่า 5.30 เมตร ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีการวัดระดับน้ำปิง