บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อความว่าการเขย่าลูกทำให้เกิดอันตรายหลายอย่าง เช่น ทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ไปจนถึงทำให้ตาบอด เรื่องนี้จริงหรือไม่ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ นพ.กุลเสฏฐ ศักดิ์พิชัยสกุล กุมารแพทย์ประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
“การเขย่าลูก” ที่แชร์กัน มีชื่อที่เรียกทางการแพทย์ว่า “Shaken Baby Syndrome”
Shaken การเขย่า
Baby เด็กทารก
Syndrome อาการ
การเขย่าลูกจะทำให้เกิด “เลือดออกในสมอง” ?
เขย่าลูกทำให้เลือดออกในสมอง เป็นเรื่องจริง
การเขย่าเด็กโดยเฉพาะในเด็กทารก เด็กเล็ก ๆ อายุน้อยกว่า 2 ขวบ สามารถทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้ เนื่องจากขนาดของศีรษะเด็กจะใหญ่กว่าขนาดร่างกาย
นั่นคือเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว และส่วนกล้ามเนื้อคอที่ยังไม่แข็งแรงพอ ถ้ามีการเขย่าเกิดขึ้น ศีรษะเด็กจะมีการขยับไปมา และในกะโหลกศีรษะมีเนื้อสมองอยู่ การเขย่าแบบนี้ เนื้อสมองจะถูกกระทบกระแทกทุก ๆ ด้าน เพราะว่ากะโหลกก็คือกระดูก ทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้
กะโหลกแตกได้จากการเขย่าลูก จริงไหม ?
การเขย่าลูกไม่สามารถทำให้กะโหลกศีรษะเด็กแตกได้ แต่ขณะที่ผู้ใหญ่เขย่าเด็กเกิดความเครียด หรือมีอารมณ์โกรธว่าทำอย่างไรเด็กก็ไม่สงบสักที ศีรษะเด็กอาจจะไปกระแทกกับของแข็งทำให้กะโหลกศีรษะแตกได้มากกว่า
การเขย่าลูกจะทำให้เลือดออกในลูกตา จริงไหม ?
การเขย่าลูกทำให้เลือดออกในลูกตาได้ ซึ่งเกิดจากการเขย่าศีรษะเด็กแล้วทำให้หลอดเลือดที่อยู่หลังลูกตาฉีกขาด
กรณีการเขย่าลูกบ่อย ๆ เหมือนกับค่อย ๆ ฉีกหลอดเลือดออกทีละนิด ๆ เพราะฉะนั้นเลือดจะค่อย ๆ ไหลออกมาจากสมองและที่ลูกตา
ถ้ามีเลือดออกใต้จอประสาทตา สามารถทำให้เกิดตาบอดในอนาคตได้
มีสัญญาณอะไรที่บอกได้ว่าลูกได้รับอันตรายจากการถูกเขย่า ?
สมมติว่าพบเด็กที่สงสัยอาการ “Shaken Baby Syndrome” เช่น เด็กมีอาการร้องงอแงผิดปกติ นอนซึมทั้งวัน มีอาการเกร็งกระตุก หรือกระหม่อมหน้าศีรษะโปร่ง ต้องรีบพาไปพบแพทย์ เพราะอย่างน้อยจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา
บางกรณี การเขย่าลูกอาจทำให้ลูกเสียชีวิตหรือพิการได้ ?
ถ้ามีการเขย่าเกิดขึ้นแล้วทำให้มีเลือดออก สามารถทำให้เกิด “เลือดออกในสมอง” ได้ ถ้ารุนแรงมากก็อาจเสียชีวิต
ถ้ารอดชีวิต ส่วนใหญ่มักจะมีความพิการร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นสมองพิการ ตาบอด โรคลมชัก และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ดังนั้น การเขย่าลูกเพียง 1-2 ครั้งของพี่เลี้ยงเด็ก พ่อแม่ และ/หรือ ผู้ปกครอง อาจจะส่งผลระยะยาวกับเด็กทารกที่พ่อแม่จะต้องดูแลไปตลอด
ปลอบลูกอย่างไร โดยไม่ใช้การเขย่าตัว ?
พ่อแม่ ผู้ปกครอง สามารถปลอบลูกได้หลายวิธี ดังนี้
1. นำผ้าขนหนู ผ้าห่ม ห่อตัวเหมือนที่เวลาลูกอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ ที่มีอะไรโอบอุ้มเขา จะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
2. บางคนอาจจะเคยได้ยินเสียงคำว่า ชู่ว์ ชู่ว์ ชู่ว์ ก็คือทำเสียงให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เหมือนอยู่ในท้องเหมือนกัน
3. ทำตามข้อ 1 และ ข้อ 2 แล้วลูกยังร้องอยู่ ก็อาจจะต้องอุ้มลูกไว้ แล้วโยกตัวเบา ๆ
4. สุดท้ายอาจจะให้ลูกดูดนม ดูดขวดนม ซึ่งกรณีอย่างนี้การใช้จุกหลอกก็สามารถช่วยได้
เรื่อง “การเขย่าลูก” สามารถแชร์ต่อได้
สัมภาษณ์โดย ณัฐวัฒน์ จิตรมั่น
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : เขย่าลูก อันตรายจริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter