กรุงเทพ 28 มิ.ย.- “สุริยะ” เผยแนวคิดปรับทัศนียภาพโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมให้สวยงาม มอบหมาย กทพ.-ทอท. เร่งกำหนดพื้นที่ พร้อมศึกษารายละเอียดข้อดี-ข้อเสียในทุกมิติ เล็งนำร่องเพิ่มพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนแนวตั้ง ชี้พิกัด “ตอม่อใต้ทางด่วน-ผนังวางเปล่า” หวังสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว-สร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของไทย-ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไปดำเนินการปรับทัศนียภาพโครงสร้างพื้นฐานให้สวยงามและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งกำหนดพื้นที่ต้นแบบ และวิเคราะห์รายละเอียดต่าง ๆ รวมถึงศึกษาข้อดี-ข้อเสียให้ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้หน่วยงานอื่นนำไปประยุกต์และขยายผลการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม กทพ. และ ทอท. ระบุว่า หากมีความคืบหน้าหรือได้พื้นที่ที่มีความเหมาะสม จะแจ้งให้พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ในช่วงปลายปีนี้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่มาเยือน เพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ และเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของประเทศไทยสอดคล้องนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้น เพิ่มความร่มรื่น และบดบังสิ่งไม่พึงประสงค์ อาทิ สีลอกหลุด หรือคราบตะไคร่ตามกำแพง รั้ว ผนังอาคาร ที่ดูแล้วไม่สวยงามให้มีชีวิตชีวา และสวยงามมากขึ้น รวมถึงช่วยแก้ปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 ได้อีกด้วย
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ในเบื้องต้นจะดำเนินการปรับทัศนียภาพบริเวณเสาตอม่อใต้ทางด่วน หรือผนังว่างเปล่า โดยกำหนดรูปแบบเป็นสวนแนวตั้ง 5 รูปแบบ ได้แก่ 1. ผนังไม้เลื้อย ซึ่งจะใช้วิธีปลูกพรรณไม้ลงดินในกระบะหรือกระถาง แล้วปล่อยให้ต้นเติบโต ทอดเลื้อยไปตามผนังหรือโครงสร้างเพื่อยึดเกาะ 2. ผนังผ้า 3.บล็อคปลูกต้อนไม้ เป็นบล็อคคอนกรีตหรือดินเผา มีช่องใส่ต้นไม้ และเจาะรูระบายให้น้ำไหลผ่านลงมา เดินระบบน้ำหยดให้ผ่านแต่ละบล็อกตามระยะที่เหมาะสม 4.ใช้แผ่นหรือถาดพลาสติก หรือโลหะที่มีน้ำหนักเบายึดกับโครงเหล็ก โดยแบ่งเป็นช่อง ๆ เพื่อบรรจุจุพรรณไม้ และ 5. กระถางแขวน ออกแบบโครงเหล็กเป็นช่องสำหรับใส่กระถางให้เอียงซ้อนกันในแนวตั้ง นิยมใช้กระถางพลาสติกที่มีรูระบายนน้ำ เพราะมีน้ำหนักเบา. -513- สำนักข่าวไทย