กองทัพอากาศ 24 มิ.ย. -“คิกออฟ กองทัพเอไอ” 4 เหล่าทัพเดินเครื่องระบบอำนวยการรบ 3 มิติ ผบ.ทหารสูงสุด ให้ดูข้อดี-ข้อเสีย สั่งกรมยุทธการทหารบูรณาการร่วม
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ มีการผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยมี พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวขอบคุณเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ได้ร่วมปฏิบัติภารกิจในการสนับสนุนรัฐบาลเป็นอย่างดี ตลอดจนร่วมกันดูแลงานด้านความมั่นคงในทุกมิติ ซึ่งวันนี้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ในภารกิจด้านความมั่นคง เพื่อใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน โดยมีสาระสำคัญดังนี้
กองบัญชาการกองทัพไทย มีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีเอไอ มาสนับสนุนภารกิจด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการอำนวยการยุทธ์เพื่อให้การปฏิบัติการร่วมของกองทัพไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความสมบูรณ์ และการพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ควบคู่กันไป มีการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาระบบงานเฉพาะด้าน ในลักษณะระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานอยู่บนเครือข่ายภายในขององค์กร ซึ่งสามารถช่วยบริหารจัดการข้อมูล การพัฒนาและปรับปรุงระบบงานแผนที่และภูมิสารสนเทศ ด้วยการนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลที่ต้องการจากภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียม ทั้งนี้ ในระยะต่อไปจะนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาสนับสนุนการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น อาทิ การอำนวยการยุทธ์ การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ การพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคง และการช่วยเหลือประชาชน รวมถึงจะให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังพลทั้งในด้านขีดความสามารถและด้านการบริหารจัดการ โดย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้เน้นย้ำว่า ช่วงแรกเป็นเรื่องของการเรียนรู้ และศึกษาผลเสีย โดยมอบหมายให้ กรมยุทธการทหารดูแล และเตรียมการจัดตั้ง Working Group ด้านเทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Emerging Technology) เพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสนับสนุนการปฏิบัติงานของกองทัพ และเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ กองทัพบกมุ่งเน้นการปรับปรุงโครงสร้างกำลังกองทัพ และเสริมสร้างขีดความสามารถของกำลังทางบก พร้อมนำเทคโนโลยีสารสนเทศ ไซเบอร์ และปัญญาประดิษฐ์ที่ทันสมัย มาใช้ในภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างกำลังกองทัพให้มีความพร้อมในการใช้กำลังป้องกันประเทศ และปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม โดยได้นำเทคโนโลยีเอไอมาประยุกต์ใช้ในระบบงานที่สำคัญ ได้แก่ ระบบงานข่าวกรอง ระบบควบคุมบังคับบัญชาและไซเบอร์ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบงานการฝึก และระบบส่งกำลังบำรุง เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อกระบวนการแสวงข้อตกลงใจเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการปฏิบัติการ ลดจำนวนกำลังพลและทรัพยากรที่ใช้ในการปฏิบัติภารกิจ
ส่วนกองทัพเรือ ได้นำมาประยุกต์ใช้ในงานด้านความมั่นคงจะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถตลอดจนการปฏิบัติทางทหารทั้งในระดับยุทธศาสตร์ ยุทธการ และยุทธวิธี โดยมีตัวอย่างที่กองทัพเรือให้ความสำคัญ ได้แก่ การบริหารจัดการและวางแผนยุทธศาสตร์ (Strategic Management and Planning) ระบบข่าวกรอง เฝ้าตรวจ และลาดตระเวน (Intelligence Surveillance and Reconnaissance : ISR) ระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ยึดแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถด้านไซเบอร์ของกองทัพเรือ เป็นการพัฒนา 3 องค์ประกอบ ได้แก่ การพัฒนากำลังพลให้มีความรู้และทักษะไซเบอร์ที่จำเป็นต่อภารกิจ การพัฒนากระบวนการ หลักนิยมและวิธีการปฏิบัติมาตรฐาน ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยี ที่จะทำให้การปฏิบัติภารกิจมีความรวดเร็วและเป็นอัตโนมัติมากขึ้น ในปัจจุบันกองทัพเรืออยู่ระหว่างการพิจารณาเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ด้วยการจัดหาระบบ Security Orchestration, Automation and Response (SOAR) และอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยไซเบอร์ เพิ่มขีดความสามารถด้านการตรวจจับ การวิเคราะห์ ที่มีประสิทธิภาพ และการตอบสนองเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ แบบอัตโนมัติ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการแก้ไข อย่างไรก็ตามกองทัพเรือจะพัฒนาขีดความสามารถ องค์ความรู้ของกำลังพล เพื่อรองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามในอนาคต ทั้งในระดับโลกและภูมิภาคอาเซียน
ขณะ กองทัพอากาศ ได้กำหนดแนวทางพัฒนาขีดความสามารถครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ได้แก่ มิติทางอากาศ มิติไซเบอร์ และมิติอวกาศ ทั้งนี้ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของกองทัพอากาศด้วยการประยุกต์ใช้เอไอมาใช้ในการเสริมสร้างขีดความสามารถของระบบบัญชาการและควบคุมทางอากาศ Air Command and Control System หรือ ACCS โดยใช้ Track Data Fusion Engine รวบรวม ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการติดตามและระบุเป้าหมายแบบเรียลไทม์ โดยวางแผนการพัฒนา ระบบงาน คน และเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกัน ทั้ง 3 ด้าน เพื่อให้สามารถใช้งาน Track Data Fusion Engine อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้งาน AI ในมิติไซเบอร์ ได้พัฒนาสถาปัตยกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยยึดแนวคิดกองทัพอากาศเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Air Force : NCAF) และโมเดล Zero Trust เพื่อให้การป้องกันทางไซเบอร์มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานระดับสากล มุ่งเน้นป้องกัน และสกัดกั้นภัยคุกคามที่พบด้วยระบบป้องกันและระบบตอบสนอง ภัยคุกคามไซเบอร์อัตโนมัติ ชดเชยข้อจำกัดด้านบุคลากร มีแนวความคิดในการประยุกต์ใช้ AI ในการปฏิบัติการในมิติอวกาศ ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการดาวเทียม และการบริหารจัดการข้อมูลทางอวกาศและด้านเฝ้าระวังทางอวกาศ รวมถึงการใช้ AI ในด้านการสนับสนุนการบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้สามารถวางแผนป้องกันสาธารณภัยได้อย่างทันท่วงที ทั้งการพิทักษ์รักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ การสนับสนุนภารกิจตามที่รัฐบาลมอบหมายตลอดจนการช่วยเหลือประชน สืบไป
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บรรยายสรุป ในหัวข้อ การนำเอไอ มาประยุกต์ใช้ด้านความมั่นคง โดยโครงการ MySIS Bot เป็นการนำเทคโนโลยี แชทบอท หรือโปรแกรมอัตโนมัติที่ทำหน้าที่สื่อสารกับผู้ใช้ มาช่วยในการตอบคำถามพื้นฐาน และสามารถพัฒนาให้ตอบคำถามได้ดียิ่งขึ้นต่อไป ตามขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และจะพัฒนาในเรื่องความท้าทายในการให้คำปรึกษา โดยพัฒนาการตรวจจับคำ คีย์เวิร์ด เพื่อให้ได้คำตอบที่ฉลาดมากขึ้น โดยโครงการ MySIS Bot นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายราวกับมีชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการเก็บและการเข้าถึงข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ และสร้างกลไกที่ช่วยป้องกันการเกิดเหตุได้ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อลดการสูญเสียของกำลังพล และเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ
ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เน้นย้ำให้เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเท และเสียสละ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชนดำรงการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจการรักษาความมั่นคงตามแนวชายแดน ปกป้องอธิปไตยของชาติ ดูแลประชาชน อย่างเต็มที่ รวมทั้งดำเนินการจัดหายุทโธปกรณ์สนับสนุนการปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ เตรียมการพัฒนาการปฏิบัติงาน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้งานและควบคุมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการปฏิบัติภารกิจของกองทัพ ตลอดจนพัฒนากำลังพลให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อรองรับภัยคุกคามในทุกรูปแบบ พร้อมบูรณาการร่วมกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ กับองค์กรภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) (National Science and Technology Development Agency : NSTDA) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. ในฐานะองค์กรภาครัฐ ศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) ด้วย.-313.-สำนักข่าวไทย