สุรินทร์ 4 มิ.ย. – ยิ่งใหญ่อลังการ งานประเพณีบวชนาคช้าง แห่งเดียวในไทยที่ จ.สุรินทร์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมายาวนาน แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความผูกพันระหว่างคนกับช้าง
งานประเพณีบวชนาคช้าง นับเป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์ จัดขึ้นที่บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ช่วงวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งทุกปีมีการจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ ปีนี้มีขบวนนาคนั่งบนหลังช้าง จำนวน 20 เชือก และช้างแต่งกายด้วยสีสันลวดลาย เข้าร่วมในขบวนแห่นาคช้างอีก 50 เชือก รวม 70 เชือก แห่ออกจากวัดแจ้งสว่าง ไปตามถนน มุ่งหน้าศาลปู่ตา ริมฝั่งแม่น้ำมูล เมื่อไปถึง ญาติของนาค พร้อมด้วยนาคและช้าง จะเดินลงแม่น้ำมูล เพื่อชำระร่างกายช้าง และให้ช้างได้พักผ่อน กินน้ำ ก่อนจะเดินขึ้นจากน้ำ เพื่อไปร่วมประกอบพิธี
สำหรับการบวชนาคช้าง เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาของชุมชนชาวช้าง หรือที่เรียกว่า ชาวกูย หรือกวย ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ทางอีสานตอนใต้ (ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนามกลุ่มคนเลี้ยงช้าง เป็นการบวชของผู้ชายในหมู่บ้าน เมื่ออายุครบ 20 ปี โดยจะขึ้นนั่งบนหลังช้างแล้วแห่ไปรอบหมู่บ้าน มุ่งหน้าไปยังดอนบวช หรือ สิม ซึ่งอยู่บริเวณจุดที่ลำน้ำมูลมาประจบกับแม่น้ำมูล เพื่อเป็นการบอกกล่าวปู่ตา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ โดยนาคจะแต่งเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ตามแบบประเพณีของชาวกูย เน้นสีสันสดใส ห้ามสีดำ เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับแต่ละชิ้นก็จะแฝงไปด้วยความหมายที่แตกต่างกันตามความเชื่อ เป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความผูกพันระหว่างคนกับช้าง ซึ่งสืบทอดจากบรรพบุรุษมานานหลายร้อยปี และจะมีการจัดงานประเพณีอย่างยิ่งใหญ่ ณ ศูนย์คชศึกษา และที่วัดแจ้งสว่าง บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ซึ่งที่นี่มีความเชื่อว่า หากลูกหลานคนใดจะบวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ ต้องกลับมาบวชที่บ้านตากลางแห่งนี้เท่านั้น จึงจะถือว่าการบวชนั้นสำเร็จ. – สำนักข่าวไทย