อินเดีย 18 ส.ค. – อินเดียใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมที่มีการกดขี่ทางเพศสูงได้อย่างไร ติดตามในคอลัมน์ “สารคดีโลก”
บรรดาเด็กผู้หญิงในหมู่บ้านเล็กๆ ของรัฐฌาร์ขัณฑ์ ทางตะวันออกของอินเดีย กำลังตื่นเต้นกับการเดินทางไปเข้าร่วมฝึกซ้อมฟุตบอล บางคนยังเรียนแค่ชั้นประถมต้น ขณะที่อีกหลายคนอายุเกือบ 20 ปีแล้ว พวกเธอกำลังมุ่งหน้าไปสนามฝึกซ้อมฟุตบอล ทุกคนกระตือรือร้นกับการฝึกทักษะควบคุมลูกฟุตบอล โดยหวังจะเป็นโค้ชสอนฟุตบอลหารายได้เป็นทุนการศึกษาต่อไป
ยูม่า (YUMA) องค์กรนอกภาครัฐ เป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนทั้งในด้านการศึกษาและชุดกีฬา โดยหวังใช้ฟุตบอลหญิงเป็นเครื่องมือพัฒนาสังคมในอินเดีย ประเทศที่มีการกีดกันทางเพศสูง โดยเฉพาะในแถบชนบท ผู้หญิงต้องทำงานบ้าน ห้ามไปโรงเรียนหรือเตะฟุตบอล
ในรัฐฌาร์ขัณฑ์ มีชนพื้นเมืองอยู่รวมกันถึง 32 เผ่า ต่างก็มีวัฒนธรรมของตัวเอง และส่วนใหญ่บังคับให้ลูกสาวแต่งงานออกเรือนไปตั้งแต่อายุยังน้อย เด็กผู้หญิงราว 6 ใน 10 คน ต้องเลิกเรียนกลางคัน เพราะถูกพ่อแม่จับแต่งงานตั้งแต่อายุไม่ถึง 18 ปี แต่ละปียังมีเด็กผู้หญิงถูกล่อลวงไปจากหมู่บ้านหลายพันคน และมีการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นมากมาย
ฟรานซ์ กาสท์เลอร์ ชาวอเมริกันจากรัฐมินนิโซตา ผู้ก่อตั้งยูม่า เลือกมาที่หมู่บ้านแห่งนี้ เพราะมีคนยากจนมาก การศึกษาก็น้อย และผู้คนไม่ค่อยเคารพกฎหมาย เขาก่อตั้งยูม่า เมื่อปี 2552 และสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงขึ้นในปี 2558 โดยหวังจะช่วยเหลือเด็กๆ ให้มีความเข้มแข็งและมั่นใจ ด้วยการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมฟุตบอล และให้เข้าโรงเรียนเพื่อปลูกฝังนิสัยรักการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ทั้งยังกระตุ้นให้พัฒนาตนเองจนขึ้นเป็นผู้นำชุมชนได้
นอกจากนี้ ยังเข้าร่วมหารือกับผู้ปกครอง เพื่อหาทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการบังคับให้ลูกแต่งงาน เด็กบางคนได้มีโอกาสออกนอกหมู่บ้านเป็นครั้งแรก บางคนได้ไปเที่ยวทั่วอินเดีย บางคนได้ร่วมทัวร์นาเมนต์ไปแข่งขันถึงสเปน ปัจจุบันมีเด็กผู้หญิงเข้าร่วมโครงการฝึกซ้อมฟุตบอลกับทางยูม่าราว 300 คน และได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีแห่งนี้ 80 คน. – สำนักข่าวไทย