พิพิธภัณฑ์สถานพระนคร 16 ส.ค.-กรมศิลปากรแจง การบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯใช้วัสดุ ลวดลายและสีดั้งเดิมตั้งเเต่ก่อตั้งในสมัยร.2 เผยสำรวจและเก็บรายละเอียดอย่างครบถ้วนก่อนบูรณะ ส่วนกรณีที่อาจจะมีการนำชิ้นส่วนกระเบื้องไปทำเป็นของขลัง สามารถทำได้ เพราะเป็นสมบัคิวัด
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร แถลงข่าวภายหลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับการบูรณะปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ว่ามีสีขาวโพลนและลวดลายเปลี่ยนไปว่า การบูรณะซ่อมแซมพระปรางค์ เป็นไปตามกระบวนการช่างศิลป์ไทยที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่2 เป็นการอนุรักษ์ศิลปกรรมแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งแตกต่างจากการอนุรักษ์ศิลปกรรมที่อยุธยาและสุโขทัย เพราะวัดอรุณฯยังคงเป็นวัดที่ดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน พร้อมยืนยัน ว่าที่สีของพระปรางค์ดูขาวขึ้นนั้น เป็นสีดั้งเดิมของพระปรางค์ แต่ที่ประชาชนคุ้นเคยเห็นเป็นสีเข้มเพราะมีฝุ่นและตะไคร่เกาะ ดังนั้นเมื่อกระเทาะผิวเคลือบออกและบูรณะด้วยปูนหมักและปูนตำตามแบบดั้งเดิม พระปรางค์ก็จะเป็นสีขาวตามเดิม ขณะที่ ในส่วนของเซรามิกที่มองเห็นสีอ่อนลงกว่าเดิมนั้น คาดว่าเกิดจากสีพื้นที่เปลี่ยนไปทำให้สีกระเบื้องมีความเด่นชัดไม่เท่ากัน นอกจากนี้ ในการบูรณะกระเบื้องที่ประดับพระปรางค์ มีการเปลี่ยนเป็นของใหม่ที่ทำขึ้นเลียนแบบของเดิมที่ชำรุด หลุดลอก และเหลือความสมบูรณ์ไม่ถึงร้อยละ 30-50 เท่านั้น ซึ่งโดยรวมมีกระเบื้องใหม่เพียงร้อยละ 40 หรือประมาณ 120,000 ชิ้นเเละยังคงเป็นของเดิมกว่าร้อยละ60
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวด้วยว่า พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มีการก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และได้มีการบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งครั้งล่าสุด คือในปีพ.ศ.2556-2560 กรมศิลปากรตรวจพบว่า เนื้อปูนพระปรางค์เสื่อมสภาพ มีตะไคร่น้ำและสิ่งสกปรกเกาะบนพื้นผิว พบเศษชิ้นส่วนหลุดร่วง จึงได้จัดทำโครงการบูรณะพระปรางค์และมณฑปวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี ก่อนการบูรณะ ได้มีการสำรวจ เก็บข้อมูลและหาข้อมูลเกี่ยวกับลวดลายก่อนจะมีการบูรณะ ซึ่งพบว่ามีกว่า 120 ลวดลาย โดยมีการเก็บสีและชิ้นส่วนไว้ทั้งหมด
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีการนำชิ้นส่วนกระเบื้องจากพระปรางค์ไปทำเครื่องลางของขลังนั้น อธิบดีกรมศิลปากรระบุว่า สามารถทำได้ เพราะเป็นสมบัติของวัดเเต่ก็ไม่ควรทำ เพื่อถือเป็นโบราณสถานสำคัญของคนทั้งชาติ.-สำนักข่าวไทย