กรุงเทพฯ 7 พ.ค.-ก.พลังงาน ย้ำจะทยอยขึ้นราคาดีเซล จนถึงกรอบตรึงราคาไม่เกิน 33 บาท/ลิตร จากราคาปัจจุบัน 31 บาท/ลิตร กองทุนน้ำมันติดลบแล้วกว่าแสนล้านบาท ย้ำเตรียมปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งใหญ่ในปีนี้
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า จากที่ ครม.เห็นชอบ 3 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือประชาชน และลดภาระค่าครองชีพ ประกอบด้วย 1. การดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร(ราคาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 31 บาท/ลิตร ) โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2. การขยายระยะเวลาการตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม 423 บาท ต่อถัง 15 กิโลกรัมไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 และ 3. การลดค่าไฟที่ 19.05 สตางค์ จาก 4.18 บาท เป็น 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ในงวดเดือน พฤษภาคม ถึง สิงหาคม 2567 ถือว่า เป็นมาตรการช่วยเหลือในระยะสั้น ตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ส่วนในระยะถัดไป ทางตนได้เตรียมรื้อระบบราคาพลังงานใหม่ ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการอยู่ คาดว่าจะยกร่างกฎหมายใหม่ และดำเนินการได้ภายในปีนี้ โดยคนไทยจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานที่มีความยุติธรรม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และจะเป็นการปรับรูปแบบพลังงานของประเทศที่จะมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วย
“ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันราคาพลังงานเกือบทุกชนิดมีความผันผวนในระดับสูง เกิดจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งกระทรวงพลังงานภายใต้การนำของผมได้พยายามที่จะช่วยเหลือประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งในส่วนของน้ำมัน รัฐบาลได้กำหนดเพดานไว้ที่ 33 บาทต่อลิตร เนื่องจากสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้อุดหนุนติดลบกว่าแสนล้านบาทแล้ว หากไม่อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงจะอยู่ที่ 34 – 35 บาทต่อลิตร และอาจจะมีการปรับเพดานหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาขายปลีกในไทยก็จะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป” นายพีระพันธุ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสมัยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูแล ดีเซลไม่เกิน 32 บาท/ลิตร แต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา ลดราคาดีเซลเหลือไม่เกิน 30 บาท/ลิตรโดยใช้เงินกองทุนน้ำมันฯและภาษีสรรพสามิตเข้ามาดูแล แต่ราคาผันผวนหนัก จนต้องทยอยขึ้นราคาและประกาศ ไม่ใช้ภาษีเข้ามาดูแล
ล่าสุดฐานะ กองทุนน้ำมันฯ วันที่ 5 พ.ค.67ติดลบ 109,186 ล้านบาท แยกเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 61,640 ล้านบาทและกองทุนอุดหนุนแอลพีจี 47,546 ล้านบาท โดยอัตราภาษีดีเซลบี 7 จัดเก็บที่ 5.99 บาท/ลิตร และกองทุนฯอุดหนุนดีเซล ลิตรละ 3.58 บาท หรือราว 250 ล้านบาท/วัน หรือกว่า 7,500 ล้านบาทต่อเดือน การทยอยขึ้นราคาดีเซล ก็จะช่วยลดการอุดหนุนและเพิ่มสภาพคล่องแก่กองทุนฯ โดยกองทุนฯ ล่าสุดยังมีหนี้กว่า1 แสนล้านบาทในการกู้ยืมเงินมาอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง.-511-สำนักข่าวไทย