กรุงเทพฯ 29 เม.ย. – รมว. เกษตรฯ กำชับกรมชลประทานช่วยเหลือพื้นที่เกษตรช่วงปลายฤดูแล้ง ย้ำผลผลิตต้องไม่เสียหาย น้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ วอนอย่าทำนาปรังรอบ 2 ส่วนการปลูกข้าวนาปีใน 11 พื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มเจ้าพระยาจะเริ่มเพราะปลูกได้ 1 พ.ค. แต่พื้นที่ดอนขอให้รอน้ำฝนเป็นหลัก
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า สั่งการให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำช่วงปลายฤดูแล้งตามแผนที่วางไว้ โดยพื้นที่เพาะปลูกต้องไม่เสียหาย พร้อมให้ระดมเครื่องจักรเครื่องมือเช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องกำจัดวัชพืช รถบรรทุกน้ำ เป็นต้น ประจำทุกพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้พร้อมแก้ไขปัญหาให้ประชาชนและเกษตรกร ที่สำคัญคือ น้ำอุปโภคบริโภคต้องจัดสรรให้อย่างเพียงพอ ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติการทำฝนควบคู่ไปด้วย มั่นใจว่า ผลผลิตทางการเกษตรในฤดูแล้งไม่ลดลง
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทานระบุว่า ฤดูแล้งตามแผนบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายนนี้ จากนั้นจะเป็นการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ยืนยันว่า น้ำต้นทุนทั่วประเทศมีเพียงพอ รวมถึงในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาและอีอีซีด้วย โดยขณะนี้ได้สำรองน้ำไว้ หากเกิดฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม
ทั้งนี้สำนักงานชลประทานทุกพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ทำนาปรังรอบ 2 เนื่องจากพบว่า เกษตรกรต้องการปลูกข้าวหลายรอบเพราะข้าวราคาดี แต่กรมชลประทานได้ลดปริมาณการส่งน้ำลงในพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรังหมดแล้ว ดังนั้นนาปรังรอบที่ 2 จึงเสี่ยงที่จะเสียหายจากภัยแล้ง นอกจากนี้เกษตรกรที่ทำนาปรังรอบ 2 ยังมีแผนที่จะปลูกข้าวนาปีช่วงกลางฤดูฝนซึ่งผลผลิตจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงน้ำหลากจึงเสี่ยงจะเสียหายจากอุทกภัยซ้ำอีก
ในลุ่มเจ้าพระยา กรมชลประทานเตรียมส่งน้ำเข้าระบบชลประทานเพื่อให้เกษตรกรในทุ่งลุ่มต่ำ 11 ทุ่งสามารถเพาะปลูกได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไปซึ่งจะสามารถจะเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนช่วงน้ำหลาก แต่ที่ดอนขอให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักสำหรับการเตรียมแปลง โดยรอให้ฝนตกสม่ำเสมอก่อนจึงค่อยเพาะปลูก
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่จังหวัดนครราชสีมาเช่น อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง แม้น้ำจะน้อย แต่ไม่มีแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังตั้งแต่ต้นฤดูแล้งจึงไม่กระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก โดยจัดสรรน้ำให้เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค
ส่วนปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกในลุ่มน้ำจันทุบรีและคลองวังโตนด ลุ่มน้ำโตนเลสาปได้แก่ คลองเวฬุและคลองพระพุทธ และลุ่มน้ำบางปะกงเช่นที่คลองพระสทึงซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญๆ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และเงาะ เป็นต้น ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดให้กับเกษตรกร โดยในเบื้องต้นให้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เพื่อสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับจัดส่งรถบรรทุกน้ำขนน้ำเข้าไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกรนำไปเพาะปลูกได้อย่างเพียงพอจนกว่าจะถึงฤดูเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ ยังได้วางแผนก่อสร้างทำนบชั่วคราว พร้อมเสริมสันฝายในลำน้ำให้สูงขึ้น สำหรับเก็บกักน้ำไว้เป็นช่วงๆ รวมทั้งขุดชักร่องน้ำบริเวณสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าให้น้ำไหลได้สะดวกสามารถสูบน้ำไปใช้ได้ ลดความเสี่ยงต่อผลผลิตเสียหายจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของกษตรกร
ขณะเดียวกันสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประสานกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำในความดูแลของกรม ให้เพิ่มการระบายน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด. 512 – สำนักข่าวไทย