กรุงเทพฯ 23 เม.ย. – รมว. ธรรมนัสสั่งตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดกระบี่ หลังพบภัยแล้งวิกฤติจนกระทบต่อการผลิตน้ำประปา เริ่มปฏิบัติเที่ยวบินแรกเช้านี้ พร้อมย้ายหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสงขลา มาปฏิบัติการที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีแทน เพื่อเร่งช่วยเหลือพื้นที่เกษตรและเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำให้ภาคใต้ตอนกลาง
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดกระบี่เพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในภาคใต้ตอนกลาง โดยเฉพาะที่จังหวัดกระบี่ซึ่งปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ลดลง ส่งผลถึงน้ำต้นทุนที่จะให้ผลิตน้ำประปา ขณะนี้น้ำในคลองกระบี่ใหญ่ลดลงต่อเนื่อง จนถึงขั้นที่ประชาชนต้องเตรียมภาชนะเก็บกักน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคในวันที่น้ำประปาไม่ไหล หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจะส่งผลกระทบตั้งต่อครัวเรือน สถานประกอบ แหล่งท่องเที่ยว และย่านการค้าเมืองกระบี่
หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกระบี่จัดตั้งที่ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2567 ใช้เครื่องบินขนาดกลาง (CASA) 2 ลำ ปฏิบัติการช่วยบรรเทาปัญหาในพื้นที่เป้าหมายได้แก่ จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง และพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า ได้กำชับให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งปฏิบัติการทำฝนช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งทั่วประเทศ ร่วมกับการที่กรมชลประทานจัดสรรน้ำตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ขณะนี้มั่นใจว่า ภัยแล้งจะยังไม่กระทบรุนแรงจนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรในภาพรวมลดลง
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกล่าวว่า ได้หารือกับนายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่และนายสมปราชญ์ ปราบสงคราม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่เกี่ยวกับการทำฝนหลวงบรรเทาภัยแล้ง โดยในเช้าวันนี้ (23 เม.ย. 2567) จากการติดตามสภาพอากาศพบว่า เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกระบี่จึงขึ้นบินปฏิบัติการ ในเวลา 09:30 น. ขั้นตอนที่ 1 “ก่อเมฆ” ใช้สารฝนหลวงสูตร 1(4/2) หรือเกลือแป้ง 1,000 กิโลกรัม ปฏิบัติการบริเวณจังหวัดกระบี่และจสุราษฎร์ธานี ร่วมกับการปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ขึ้นบินปฏิบัติการในเวลา 08:30 น. ขั้นตอนที่ 1 “ก่อเมฆ” ใช้สารสูตร 1(4/2) หรือเกลือแป้ง 700 กิโลกรัม ปฏิบัติการบริเวณจังหวัดตรังและกระบี่ โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่จังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต
ขณะนี้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ได้ปรับแผนการปฏิบัติการ โดยปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสงขลา มาจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่สนามบินกองบิน 7 อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2567 ใช้เครื่องบินขนาดเล็ก (CARAVAN) 2 ลำ และเครื่องบิน BT-67 จากกองทัพอากาศ 1 ลำ ระหว่างวันที่ 19-22 เม.ย. 2567 ขึ้นบินปฏิบัติการรวม 7 เที่ยวบิน ทำให้มีฝนตกในพื้นที่รับผลประโยชน์ 6 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา กระบี่ และภูเก็ต
นายสุพิศกล่าวว่า จากนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงกระบี่และสุราษฎร์ธานีจะระดมทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางและภาคใต้ตอนล่าง สำหรับการช่วยเหลือพื้นที่ภาคใต้ตอนบน มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งจัดตั้งสนามบินกองบิน 5 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยปฏิบัติการมาตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2567 รวม 28 เที่ยวบิน ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่ได้รับประโยชน์ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร
จากการติดตามแนวโน้มสภาพอากาศพบว่า พบว่า บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีโอกาสปฏิบัติการฝนหลวงได้มาก ในเดือนเมษายนนี้จึงมีแผนช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายได้แก่ จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต และตรัง จากนั้นในเดือนพฤษภาคม โอกาสการเกิดฝนมีมากขึ้นจึงจะช่วงชิงสภาพอากาศในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยให้สถานการณ์ความต้องการน้ำในพื้นที่การเกษตร น้ำอุปโภค-บริโภค และน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางดีขึ้น
เกษตรกรและประชาชนสามารถขอรับบริการฝนหลวงได้ทุกวัน ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยติดต่อไปที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 ต่อ 410 ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 7 ภูมิภาค อาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ เว็บไซต์ https://it.royalrain.go.th/rainmaking . 512 – สำนักข่าวไทย