กรุงเทพฯ 10 ส.ค.-สถานการณ์คอรัปชั่นไทย พบการไม่จ่ายใต้โต๊ะดีขึ้นสุดในรอบ 8 ปี แต่ ห่วงแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีสถานการณ์คอรัปชันไทย (Corruption Situation Index : CSI) แถลงผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย ว่า สถานการณ์คอรัปชัน ยังอยู่ในเกณฑ์ดีมาก พบว่าผู้เกี่ยวข้องไม่จ่ายเงินใต้โต๊ะ ดีที่สุดในรอบ 8 ปี อย่างไรก็ตาม คนไทยมีความห่วงใยต่อสถานการณ์คอรัปชันในอนาคต จะมีความรุนแรงมากขึ้นจากการที่ภาครัฐจะมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค และการเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ขณะที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนภาครัฐ เริ่มเห็นช่องทางในการคอรัปชันมากขึ้น และตอนนี้เริ่มมีการรับเงินใต้โต๊ะมีมากขึ้น โดยมีการจ่ายเงินสูงกว่าร้อยละ 25 มากขึ้นและมีการจ่ายสูงสุดร้อยละ 35 ของมูลค่าโครงการ
ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า มีคู่กรณีที่ทำธุรกิจกับภาครัฐ ตอบว่า ไม่จ่ายมีจำนวนมากขึ้น ส่วนผู้จ่าย ได้จ่ายในวงเงิน 5-15 ของมูลค่างาน คิดเป็นความเสียหาย เป็นวงเงินอยู่ในช่วง 65,000 -195,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.2-6.7 ของงบประมาณรัฐในภาพรวม และมีสัดส่วนต่อจีดีพีประเทศ คิดเป็นร้อยละ 0.4-1.3 หรือมีค่าเฉลี่ยเท่ากับมีผลกระทบคิดเป็นร้อยละ 0.7 ของจีดีพี
สำหรับดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย จากการสำรวจในพบว่า สถานการณ์คอรัปชั่นแย่ลง โดยดัชนีฯใน เดือนมิ.ย. 2560 อยู่ในระดับ 53 ลดลงจากผลสำรวจในเดือนธ.ค. 2559 ที่อยู่ในระดับ 55 ส่วนดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยในปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 52 ทรงตัวจากเดือนธ.ค.2559 ส่วนดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชันไทย แย่ลงเช่นกัน โดยระดับเดือนมิ.ย.2560 ปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 54 จากที่เดือนธ.ค.2559 ขณะที่ องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International –TI) ให้คะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทย(CPI) ลดลง จากที่เคยได้ 38 คะแนน ในปี 58 ลดลงมาเหลือคะแนน 35 ในปี 59 อันดับจากตกจาก 76 ของประเทศทั้งหมดลงมาอยู่อันดับ 101 เพราะนำปัจจัยการเมืองเข้ามาพิจารณา
นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กลยุทธ์สำหรับการแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชันที่รัฐควรให้ความสำคัญลงมือทำเป็นอันดับแรกคือ สร้างกระบวนการ วิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้โดยบุคคลภายนอก, สร้างแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต, และดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชันในระดับมหภาค เพื่อเป็นตัวอย่างในการบังคับใช้อย่างจริงจัง
สำหรับสาเหตุของการคอร์รัปชัน คือ ความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย ผู้มีอำนาจเข้าดำรงตำแหน่งขาดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ยาก กลไกการตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ ความล่าช้าของราชการยังไม่ดีขึ้น ส่วนรูปแบบการทุจริต อยู่ในรูปแบบ การฮั๊วการประมูลมีมากขึ้น มีการเร่งรัดงบลงพื้นที่ มีการโครงสร้างพื้นฐานกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การให้สินบนรองลงมา การเอื้อประโยชน์พรรพวกญาติ การขู่กรรโชก-สำนักข่าวไทย