รัฐสภา 4 เม.ย.-“พริษฐ์” ชี้รัฐบาลไม่จริงใจแก้รัฐธรรมนูญ ผ่านมา 6 เดือนยังวนเรือในอ่าง ฟันธง “รัฐบาลเศรษฐา” ไม่ไว้ใจประชาชน หลังแพ้เลือกตั้งให้ก้าวไกล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 เป็นวันที่2 เริ่มขึ้นในเวลา 09.05 น. โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม หลังพักการประชุมในเวลา 02.44 น. เมื่อคืนที่ผ่านมา (3 เม.ย.)
โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่รัฐบาล โดยนายกฯ ระบุว่า จะเสร็จภายใน 18 เดือน แต่ผ่านมา 6 เดือน ยังวนเรือในอ่าง คือ ตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติ ทำไมไม่ให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาแทน เพราะจะมีตัวแทนสัดส่วนจากพรรคการเมือง แต่การเดินสายทั่วประเทศของคณะกรรมการฯ ที่รัฐบาลตั้งขึ้น ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ไปเน้นเนื้อหาการแก้ไข ไม่ใช่เรื่องประชามติ และไม่เห็นด้วยกับการตั้งคำถามที่ไปเน้นการแก้ไขหมวด 1 และ หมวด 2
นอกจากนี้ ยังมีความไม่ชัดเจน การที่รัฐบาลจะทำประชามติ 3 ครั้ง แต่พรรคเพื่อไทย กลับยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ทำประชามติ 2 ครั้ง และประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ทุกคนรู้ดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีหน้าตา เนื้อหาสาระเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ไม่มีใครมองว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสบความสำเร็จในการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพราะแก้แค่ระบบการเลือกตั้ง
“อีก 10 ปีข้างหน้าก็คงไม่มีใคร มองว่ารัฐบาลเศรษฐาประสบความสำเร็จเช่นกัน หากยังมีปัญหาเช่นเดิมที่จะให้วุฒิสภามีอำนาจล้นฟ้าและการคัดเลือกไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน รวมถึงให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายขอบเขตอำนาจไปเรื่อยๆ และจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้างทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้ามในการยุบพรรค และเป็นเครื่องมือประหารชีวิตของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม พร้อมฟันธงว่า รัฐบาลเศรษฐา ไม่มีทางไว้ใจประชาชน มาร่วมกันออกแบบรัฐธรรมนูญ และจัดทำกติกาสูงสุด ของประเทศตามที่พวกเขามีสิทธิ์ เพราะรัฐบาลเศรษฐาที่ตั้งได้และดำรงอยู่ได้ ก็เพราะเครือข่ายอำนาจเดิม”นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ ยังอ้างคำพูดของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งแรกที่จะทำเมื่อเข้ารับตำแหน่งคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้ผ่านมาเกือบครึ่งทางแล้ว ก็ชัดเจนแล้วว่าคำพูดนั้นเป็นเพียงลมปากของนายกรัฐมนตรีที่เชื่อถือไม่ได้
“วงการทหารเขาว่ากันไว้ ว่าความไวเป็นของปีศาจ แต่ตั้งแต่ท่านนายกฯ ทำดีล ที่ต่างชาติเรียกว่า เป็นดีลปีศาจ แล้วไปตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร เราก็แทบจะเห็นว่าความว่องไวและความกระตือรือร้นของท่านนายกฯ ในการแก้รัฐธรรมนูญ ดูจะระเหยหายไปหมด”นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นตลก 6 ฉาก กับการใช้เวลา 6 เดือน เกรงว่าความล่าช้าจะทำให้ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า และไม่มีใครรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะหน้าตาเป็นอย่างไร เกรงว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ซุ่มออก ลดทอนอำนาจประชาชน คือ มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญสูตรผสม สูตรกินรวบกรรมาธิการยกร่างฯ และ ด่านทางผ่านวุฒิสภา
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลชอบกล่าวหาว่า พวกตนและพรรคก้าวไกลเป็นพวกที่ชอบเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ เพียงเพราะเราเชื่อในอำนาจของประชาชน แต่หากคำทำนายของตนเองเป็นจริง คิดว่ารัฐบาล ที่เอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่กว่าความคิดของประชาชน เพราะหากสุดท้าย ถ้าไม่ยอมปล่อยให้ประชาชนออกแบบเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เอง แต่ไปพยายามคิดค้นผลิตนวัตกรรมที่จะเข้าควบคุมเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเข้ามาล็อคสเป็ครัฐธรรมนูญ แบบนี้เค้าไม่เรียกว่าประชาธิปไตยที่เต็มใบ แบบนี้เค้าเรียกว่าประชาธิปไตยที่ต้องขอใบอนุญาต และเป็นใบอนุญาตที่ต้องจ่ายด้วยราคาแพงในอนาคตของประเทศนี้
“ตนไม่ปฏิเสธว่าที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคต้นสังกัดของนายกรัฐมนตรี เป็นพรรคที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ว่ามีความเชื่อมั่นแน่วแน่ในอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่พอเห็นท่าทีของพรรคเพื่อไทย ดูเหมือนกำลังจะออกแบบจัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ไปเปิดช่องให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแทรกแซง ตนจำเป็นต้องถามนายกรัฐมนตรี ตกลงแล้วรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ยังเชื่อในอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งอยู่หรือไม่ หรือพอมาถึงวันนี้ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งแรก จึงประเมินว่าอาจจะไม่ได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง หรือความเชื่อมั่นจากการเลือกตั้งได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว รู้ว่าพูดแบบนี้ เดี๋ยวรองนายกรัฐมนตรีก็อาจจะลุกขึ้นมาตอบโต้ว่า ตนเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย จินตนาการในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ยืนยันเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้าน ที่เวลาตนเห็นเบาะแส หรือคำใบ้ต่างๆ ของสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่อาจจะเกิดขึ้นจำเป็นต้องตั้งคำถาม เพื่อเตือนสติ หวังป้องกันและดักทาง ไม่ให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ถ้าหากมองว่าตนคิดผิด และมองท่านในแง่ร้ายเกินไป ท่านแค่ลุกขึ้นมาแล้วยืนยัน ว่ารัฐบาลนี้จะสนับสนุน สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ว่า รัฐบาลนี้จะไม่สนับสนุน สสร. สูตรกินรวบและรัฐบาลชุดนี้จะไม่บังคับ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ต้องไม่ไปขอใบอนุญาตจาก สว.ก่อน ถึงจะส่งร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นมาไปทำประชามติได้แค่นั้นเอง แต่หากวันนี้ท่านยังไม่พร้อมจะยืนยัน ท่านต้องไปคุยกันก่อน แต่ในอนาคต ท่านก็เพียงไม่ทำในสิ่งที่ตนสงสัย ไม่เช่นนั้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ตนอาจจะหน้าแตกก็ได้ ถ้าท่านเปลี่ยนใจไม่ทำเรื่องดังกล่าวแล้ว ความหวังของประชาชนที่อยากเห็นประชาธิปไตยเต็มใบก็จะไม่แตกสลาย ต่อหน้าต่อตาพวกเราทุกคน “นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ อภิปรายต่อว่า ตนขอสรุปข้อเสนอแนะเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่รวดเร็วและไว้ใจประชาชน 4 ข้อ คือ 1.สนับสนุน”คำถามประชามติ”ที่เปิดกว้าง เพิ่มโอกาสที่ประชามติครั้งแรก(หากต้องทำ) จะผ่าน 2. สนับสนุนสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ไม่เปิดช่องให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เข้ามาขี่คอ 3. สนับสนุนการแก้ไขรายมาตราให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแบบคู่ขนานกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 4. สนับสนุนให้เร่งพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ
“ความสำเร็จ หรือ ล้มเหลวของรัฐบาล ต่อการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นประชาชนในความจริงใจและรักษาคำพูดและสัจจะที่ให้ไว้ประชาชน“ นายพริษฐ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรอบเวลาการอภิปราย รัฐบาลชี้แจงไปแล้ว 4 ชั่วโมง 31 นาที 23 วินาที พรรคร่วมรัฐบาล ส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการประท้วง 8 นาที 8 วินาที รวมใช้เวลาไปแล้ว 4 ชั่วโมง 39 นาที 31 วินาที
ขณะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้รับการจัดสรรเวลา 22 ชั่วโมง อภิปรายไปแล้ว 12 ชั่วโมง 9 วินาที เหลือเวลาอีก 9 ชั่วโมง 59 นาที 51 วินาที ส่วนประธานการประชุม ได้รับการจัดสรรเวลา 2 ชั่วโมง ใช้ไปแล้ว 27 นาที 5 วินาที เหลือเวลาอีก 1 ชั่วโมง 32 นาที 55 วินาที .-316.-สำนักข่าวไทย