กรุงเทพฯ 1 เม.ย.- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินหน้านโยบายในโอกาสครบรอบ 132 ปีวันสถาปนา ตั้งเป้าให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี พร้อมขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานสู่เวทีโลก ล่าสุดราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง และสักการะสิ่งศักดิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องในวันสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครบรอบ 132 ปี โดยมีนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ บริเวณด้านหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากนั้นเป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง การพัฒนาภาคเกษตรไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานสู่เวทีระดับโลก เนื่องในวันสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครบรอบ 132 ปี และปาฐกถาพิเศษ “การขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย เพื่อเพิ่มรายได้ 3 เท่า ใน 4 ปี ภายใต้ 9 นโยบาย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ เป็นกระทรวงที่มีความสำคัญต่อความอยู่ดีกินดีของเกษตรกรและประชาชนคนไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นกระทรวงหลักที่ทำหน้าที่ดูแลภาคการเกษตรของประเทศ ซึ่งมีประชากรอยู่ในภาคการเกษตรกว่า 30 ล้านคน เป็นฐานทรัพยากรสำคัญและเป็นฐานสร้างรายได้หลักของประเทศ แต่ภาคเกษตรยังคงมีความท้าทายที่สำคัญโดยเฉพาะเกษตรกรที่มีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น มีการผลิตแบบเดิมและพึ่งพาธรรมชาติ ประสบปัญหาตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ประสบปัญหาด้านราคาจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานและขายผลผลิตเป็นวัตถุดิบขาดการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายซึ่งทำลายกลไกตลาด ฉุดรั้งราคา และสร้างปัญหาโรคติดต่อร้ายแรง เป็นต้น ทำให้ภาครัฐต้องช่วยเหลือและชดเชยเยียวยาด้วยงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งขับเคลื่อนการ ทั้งลงพื้นที่รับฟังปัญหาพี่น้องเกษตรกรเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง และได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งผลักดัน 9 นโยบายและข้อสั่งการสำคัญต่าง ๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนภาคการเกษตรบรรลุเป้าหมายเกษตรกรไทยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี ทำให้ที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ต่อเกษตรกรทั่วประเทศ
กระทรวงเกษตรฯ พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยวิสัยทัศน์ที่สำคัญและเป็นพันธกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตรงคือ วิสัยทัศน์ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) ซึ่งรัฐบาลจะยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในกระเป๋าต้องมีเงิน” รวมทั้งวิสัยทัศน์อื่น ๆ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องสนับสนุนผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องคิดใหม่และทำไว เพื่อตอบโจทย์ VISION THAILAND คิดและวางแผนพัฒนาทั้งระบบ แล้วลงมือทำตามลำดับความสำคัญ ต้องขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม โดยทุกหน่วยงานต้องร่วมบูรณาการในการทำงาน เพื่อวางรากฐานการพัฒนาในระดับพื้นที่อย่างเป็นระบบ ให้สามารถแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้ และเตรียมพร้อมก้าวสู่ปีที่ 133 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการยกระดับการทำงานเพื่อวางรากฐานการพัฒนาภาคการเกษตรให้สอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยนำปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลงมาเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาและแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สู่เป้าหมายในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า จากนี้ไปจะเป็นมิติใหม่ของกระทรวงเกษตรฯ จะต้องเห็นเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถลืมตาอ้าปากได้ ลบภาพจำในอดีตที่เปรียบเกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติที่กำลังผุกร่อนลงไปทุกวัน โดยการก้าวเข้าสู่การเกษตรยุคใหม่ภายใต้นโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่ไม่ใช่กระบวนการผลิตแบบเดิม แต่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเสริมองค์ความรู้ให้เกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและเพิ่มรายได้ของเกษตรกรอย่างยั่งยืน
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานทิศทางราคาสินค้าเกษตรในขณะนี้ว่า นับจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินหน้านโยบายต่างๆ โดยเฉพาะการลุยปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายมาอย่างเข้มงวด การมุ่งยกระดับสินค้าเกษตร เร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ วางมาตรการรองรับภัยพิบัติ โรคระบาดพืชและสัตว์ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการน้ำในช่วงวิกฤติภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ตลอดจนการบริหารจัดการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับกิจกรรมภาคการเกษตรนั้น ปรากฏว่า ส่งผลบวกต่อราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดมีทิศทางปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว สับปะรด น้ำนมดิบ และสุกร โดยเมื่อดูทิศทางราคาสินค้าแต่ละชนิดจะ พบว่า
- ข้าวหอมมะลิ (ความชื้น 15%) ราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ราคา 13.29 บาท/กก. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราคา 14.60 บาท/กก. ในเดือนมีนาคม 2567
- ข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้น 15%) ราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ราคา 10.74 บาท/กก. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราคา 12.50 บาท/กก. ในเดือนมีนาคม 2567
ทั้งนี้ราคาข้าวที่ปรับขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกนาปี เพื่อชะลอผลผลิตในช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก ไม่ให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ โดยมีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ประกอบกับผลผลิตที่ลดลงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ขณะที่ต่างประเทศมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นเพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลงและต้องการสำรองข้าวไว้เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ รวมถึงประเทศอินเดียประกาศระงับการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ส่งผลให้หลายประเทศเปลี่ยนมาซื้อข้าวจากไทยมากขึ้น จึงเป็นแรงผลักให้ราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้น
- ยางพารา ราคายางแผ่นดิบ ชั้น 3 ในปลายเดือนมีนาคมเฉลี่ยอยู่ที่ 83.15 บาท/กก. สูงขึ้นจากราคา ณ เดือน กันยายน 2566 ที่ราคาเฉลี่ย 45.51 บาท/กก. โดยราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายจากภาครัฐในการปราบปรามและตรวจสอบการลักลอบการนำเข้ายางพาราและสินค้าเกษตรผิดกฎหมายไม่ให้ทะลักเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากมาตรการการสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศ รวมทั้งจากความต้องการของตลาด ภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ เป็นต้น
- ปาล์มน้ำมัน ปัจจุบันราคาเฉลี่ยที่ 5.40 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ราคา 5.06 บาท/กก. อันเนื่องมาจากตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการน้ำมันพืชในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลโดย กนป. ได้เห็นชอบการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน พร้อมมอบหมายคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม ติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการให้ปริมาณการผลิต การใช้ และการส่งออก รวมถึงปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มอยู่ในระดับที่สมดุล และมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศจึงทำให้ราคาผลปาล์มยังอยู่ในเกณฑ์ดี
- มะพร้าว ปัจจุบันราคาเฉลี่ยที่ 15 บาท/ผล เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ราคา 7.90 บาท/ผล เนื่องจากผลผลิตลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น และรัฐบาลมีมาตรการบริหารการนำเข้าเพื่อให้ปริมาณผลผลิตมะพร้าวที่ออกสู่ตลาดกับสัดส่วนปริมาณการนำเข้าและปริมาณการใช้ในประเทศมีความสมดุลกัน
- สับปะรด ปัจจุบันราคาสับปะรดปัตตาเวียส่งโรงงานเฉลี่ยที่ 12.00 บาท/กก. โดยราคาเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ราคา 8.37 บาท/กก. ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลได้มีนโยบายในการรับมือกับภัยธรรมชาติ เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดีประกอบกับผลผลิตมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแปรรูป เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
- น้ำนมดิบ ปัจจุบันราคาเฉลี่ยที่ 20.21 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ราคา 19.65 บาท/กก. เนื่องจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีประกาศฯ ปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
- สุกร นับตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ได้เดินหน้าปราบปรามการลักลอบนำเข้าสุกรเถื่อนอย่างจริงจัง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กอ.รมน จังหวัด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตำรวจตรวจสอบห้องเย็นทั่วประเทศมากกว่า 2,000 แห่ง จนทำให้ราคาสุกรปรับตัวสูงขึ้น โดยปัจจุบันราคาสุกรเฉลี่ยที่ 66.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนตุลาคม 2566 ที่ราคา 64.25 บาท/กก.
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะยังคงขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกด้านตามนโยบายและแผนที่วางไว้ เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและราคาสินค้าเกษตร แก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องเกษตรกร ให้กินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภาคเกษตรเติบโต และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง.-512-สำนักข่าวไทย