รัฐสภา 29 มี.ค.- “วันชัย” เห็นด้วยแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากส่งเรื่องให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย เหตุ มองเห็น 3 จุดด้อย ยัน ทำประชามติ 2 ครั้งก็มากเกินพอ คาด แก้ไขครั้งนี้ รวบงบตั้ง ส.ส.ร. วงเงินเกือบ 20,000 ล้านบาท
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวอภิปรายญัตติข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เรื่องให้รัฐสภา มีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ซึ่งมี นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ยื่น ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) ใช้มาเป็นระยะเวลา 6-7 ปี และได้ตั้งกรรมาธิการศึกษาข้อดี ข้อด้อย จุดอ่อน จุดแข็ง ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และมีข้อเสนอจะแก้ตรงนั้นตรงนี้ในมาตรานั้นมาตรานี้
ซึ่งแปลว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หลังจากที่ใช้มาระยะหนึ่งคณะกรรมาธิการหรือผู้ที่ทำการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าควรมีการแก้ไข ส่วนจะแก้ไขด้วยวิธีใด จะทั้งฉบับหรือไม่ก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีประเด็นที่ควรแก้ไข โดยส่วนตัวในฐานะที่มีส่วนในการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ตั้งแต่ก่อน จนกระทั่งประกาศใช้และถึงปัจจุบัน เห็นชัดเจนว่ามีประเด็นที่ควรแก้ไข อาทิ
- ที่มาขององค์กรอิสระ ทั้งคุณสมบัติของคณะกรรมการในองค์กรอิสระคณะต่างๆ โดยที่ประชาชนแทบไม่มีส่วนเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระเลย และเป็นเรื่องที่ตนเห็นว่าควรแก้ไขอย่างยิ่งในฐานะที่เป็น สว. โหวตบุคคลในองค์กรอิสระมาถึง 5 ปี ซึ่งเห็นจุดบกพร่องที่ควรแก้ไข เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง พร้อมขอฝากไว้ในสมาชิกรัฐสภาที่จะต้องพิจารณาแก้ไขต่อไป
- การได้มาซึ่ง สว. ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรต้องมีการแก้ไขที่มาของ สว. เสียใหม่ ส่วนจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยส่วนตัวของตนที่ได้ศึกษาเรื่องดังกล่าว “เห็นควรต้องแก้ไข” เนื่องจากมีความสำคัญ เพราะถือว่าเป็นหนึ่งองค์กรในการถ่วงดุลคานอำนาจซึ่งกันและกัน ฉะนั้น จึงฝากไปว่า “เรื่องนี้ควรต้องแก้ไข”
- การปฏิรูปประเทศ ที่ยังอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ระบุไว้ แต่เวลาปฏิบัติจริงเพื่อให้เป็นเรื่องราวที่สามารถปฏิรูปได้จริงๆ ให้ สว.มีหน้าที่ติดตาม เร่งรัดและเสนอแนะ แต่บุคคลที่ทำการปฏิรูปคือรัฐบาล ฉะนั้นจึงไม่มีอะไรที่เป็นมักเป็นผลเลย ดังนั้น สิ่งที่ควรต้องแก้ไข ย้ำว่า เป็น 3 เรื่องที่ สว. ใน 5 ปีได้เห็นเป็นประจักษ์ต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ส่วนปลีกย่อยเรื่องการกระจายอำนาจและหลายๆ เรื่องที่มีบุคคลได้ทำการศึกษามา แปลว่า รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถึงคราวต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ส่วนจะแก้ไขอย่างไรเมื่อไหร่ ให้เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่จะต้องดำเนินการต่อไป เนื่องจาก สว. ชุดปัจจุบันคงไม่ทันต่อการแก้ไข ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ตนเห็นก็คือการทำประชามติ เท่าที่ญัตตินี้มีการเสนอเข้ามา ชี้ให้เห็นว่าจัดทำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว อาจต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง เปิดครั้งที่ 1 ก่อนแก้ไข ครั้งที่ 2 คือ ตาม 256 (8) และครั้งที่ 3 คือเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นพร้อมกับให้ประชาชนดูว่าเห็นด้วยหรือไม่ สรุปคือตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งมันอะไรกันนักกันหนาเพราะการแก้รัฐธรรมนูญ 1 ที ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมการเลือก ส.ส.ร. ซึ่งหากเลือก ส.ส.ร.จะใช้งบประมาณอีก 3,000 ล้านบาท โดยที่ ส.ส.ร. จะต้องทำงานอีก 1-2 ปี ใช้งบประมาณเกือบ 10,000 ล้านบาท ซึ่งการจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งทีต้องใช้เงินเกือบ 20,000 ล้านบาท “อะไรกันนักกันหนา” ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในขณะนี้
นายวันชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำประชามติ 2 ครั้งก็มากเกินพอแล้ว ซึ่งตนเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ว่า 256 วงเล็บ 8 เมื่อมีการผ่านสภาว่าจะมีการทำรัฐธรรมนูญ และใช้การตั้ง ส.ส.ร. ถามไปในคราวเดียวกัน กับ 256 (8) เนื่องจากเป็นเพียงปฐมบทของการเริ่มต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ขณะเดียวกันหากเราตัดสินใจเช่นนี้เกรงว่าทำไปแล้วจะมีปัญหาขัดต่อรัฐธรรมนูญและจะเสียของไปเปล่า และเมื่อประธานไม่บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระและสมาชิกมองว่าเป็นอำนาจหน้าที่ จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งดังนั้นองค์กรที่จะวินิจฉัยต่อประเด็นนี้คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนมองว่าเป็นสิ่งที่ชอบแล้ว
ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัยประการใด หรือจะไม่วินิจฉัยเลย ตนว่าเป็นสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาดำเนินการญัตตินี้ชอบแล้ว ตนจึงเห็นด้วยว่า เมื่อมีปัญหาสงสัยและมีข้อขัดแย้งอันเป็นประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยต่อประเด็นนี้ “ตนจึงเห็นด้วยต่อญัตตินี้” นายวันชัย กล่าว .-317 -สำนักข่าวไทย