กรุงเทพฯ 8 ส.ค. –กฟผ.เตรียมพร้อมนำเข้าแอลเอ็นจี
รวม 6.5 ล้านตัน/ปีในอนาคต เชื่อมั่นการแข่งขันด้านเชื้อเพลิง กดดันค่าไฟฟ้าถูกลง
ส่วนสัญญาระยะยาวซื้อก๊าซกับ ปตท.
ทบทวนใหม่คาดน้อยลงหลังความต้องการใช้ไฟฟ้ามีทิศทางขยายตัวน้อยลง
นายถาวร
งามกนกวรรณ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า
ในขณะนี้ กฟผ.กำลังอยู่ระหว่างรอแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติ (GAS PLAN ) และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี)
ฉบับปรับปรุงใหม่ที่จัดทำโดยกระทรวงพลังงานว่า แผนจะเป็นอย่างไร จึงจะนำมาเจรจากับ
บมจ.ปตท.ในการทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวระหว่างกันฉบับใหม่ว่าจะเป็นอัตราเท่าใด
เพราะต้องยอมรับว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงและความต้องการก๊าซล่าสุดก็ต่ำกว่าแผน
200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ประกอบกับการที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
(กพช.) มีมติให้ กฟผ.เป็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจี ผ่านคลัง ปตท. 1.5 ล้านตัน ภายในปี 2561 ในส่วนนี้ ทำให้
กฟผ.ต้องลดการทำสัญญาซื้อก๊าซจาก ปตท.ในส่วนนี้ลงคิดเป็นปริมาณ 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
“ในขณะนี้ต้องประเมินใหม่ว่าสัญญาญาซื้อขายระยะยาวจะเป็นเท่าไหร่
เพราะหากหักออก จากการนำเข้าแอลเอ็นจีเอง 1.5 ล้านตัน/ปี ปริมาณก๊าซก็จะลดลงเหลือประมาณ
1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่จากแนวโน้มความต้องการก๊าซลดลง
ในส่วนนี้จึงไม่แน่ใจว่าจะเหลือเท่าใด
โดยเดิมนั้นคาดจะเริ่มทำสัญญาใหม่ไตรมาส 4/2560 หลังสัญญาระยะยาวฉบับแรกหมดลงปี 2558 และหลังจากนั้นทำสัญญาลักษณะปีต่อปี
ซึ่งตอนนี้ก็คงจะรอแผนก๊าซฯของกระทรวงพลังงานฉบับปรับปรุงใหม่เสียก่อน”นายถาวรกล่าว
นายถาวร
กล่าวว่า กฟผ.เตรียมแยกบัญชีธุรกิจแอลเอ็นจีออกมาให้ชัดเจน ตามนโยบาย กพช.
โดยไม่ต้องจัดตั้งบริษัทใหม่แต่อย่างใด ซึ่งก็เหมือนกับธุรกิจสายส่ง กฟผ.ที่แยกบัญชีชัดเจน โดยในด้านเม็ดเงินลงทุนทั้งการนำเข้าแอลเอ็นจีผ่านคลัง
ปตท. 1.5 ล้านตัน และ การลงทุนเอฟคลังลอยน้ำ(เอฟเอสอาร์ยู) 5 ล้านตัน/ปี ตั้งแต่กลางปี 2566 เป็นต้นไป ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
กฟผ.มีเม็ดเงินลงทุนเพียงพอ และจากการแข่งขันการนำเข้าแอลเอ็นจี
ที่มีผู้นำเข้ามากรายขึ้น ก็เชื่อมั่นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค ต้นทุนค่าไฟฟ้าจะต่ำลง
“การนำเข้าแอลเอ็นจี
1.5 ล้านตัน ในปี 2561 คงจะเป็นลักษณะสัญญาตลาดจร(SPOT) ไปก่อน โดยจะนำเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าบางปะกง วังน้อยและพระนครใต้
ซึ่งจากราคาSPOTขณะนี้
มีราคาต่ำก็เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ส่วนเอฟเอสอาร์ยูในภาคใต้ กฟผ. ก็รอความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะให้ใครเป็นผู้ลงทุน
เพราะเท่าที่ทราบทางโครงการเจดีเอ (โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย )
ก็พร้อมจะขายก๊าซเพิ่ม ในขณะที่ กฟผ.เองก็มีศักยภาพลงทุนเช่นกัน”นายถาวรกล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุม กพช.เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2560 ได้รับทราบรายงานผลการศึกษา
ของ ปตท.เรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหา/นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Facilities) จำนวน 2 โครงการ
แต่ยังไม่ได้อนุมัติลงทุนแต่อย่างใด ประกอบไปด้วย โครงการFSRU ในพื้นที่ภาคใต้ (พื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา)ขนาด
2 ล้านตันต่อปี
เงินลงทุนกว่า 26,000 ล้านบาท กำหนดส่งก๊าซฯภายในปี
2571และ โครงการ FSRU พื้นที่เมือง Kanbauk ทางภาคใต้ของประเทศเมียนมาร์ ขนาด 3 ล้านตันต่อปี เงินลงทุนรวมกว่า 20,000 ล้านบาท กำหนดส่งก๊าซธรรมชาติได้ภายในปี 2570 – สำนักข่าวไทย