ระยอง 4 ส.ค.-คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันหลักการเดิม ไม่เซ็ตซีโร่กรรมการ ป.ป.ช. แต่ให้อยู่เฉพาะคนคุณสมบัติครบ ขณะเดียวกัน ยังไม่สรุป ยุบ ป.ป.ช.จังหวัดหรือไม่
นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงผลประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนอกสถานที่ ที่จังหวัดระยอง ว่า ขณะนี้ กรธ.ได้ส่งร่างกฎหมายลูกให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว 5 ฉบับจากทั้งหมด 10 ฉบับ ทั้งร่างกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน และร่างกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ส่วนอีก 5 ฉบับที่จะส่งเพิ่มเติม คือ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยคาดว่าจะส่งให้ สนช.ได้ทันตามกรอบ 240 วัน
นายนรชิต กล่าวว่า ประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ คือ การดำรงอยู่ของคณะกรรมการองค์กรอิสระแต่ละองค์กร ทั้งคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ที่เปลี่ยนไป ซึ่ง กรธ.พิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเสร็จสิ้นแล้วเมื่อวานนี้ (3 ส.ค.) โดยมีข้อสรุปในหลักการเบื้องต้น คือ หน้าที่และอำนาจ ยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ส่วนการร่วมมือกันระหว่างองค์กรอิสระ จะระบุไว้ว่า การไต่สวนกรณีการกล่าวหาข้าราชการระดับสูง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องดำเนินการอย่างไรให้ประชาชนรับทราบ และกำหนดกรอบเวลาการพิจารณาคดีอย่างชัดเจน หากปล่อยให้คดีขาดอายุความจะต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ข้าราชการผู้ใหญ่ใน ป.ป.ช.จะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อการตรวจสอบและถ่วงดุล
นายนรชิต กล่าวอีกว่า สำหรับสถานะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะเห็นว่ามีอำนาจในบางส่วนเพิ่มขึ้น มีการใช้บุคลากรเพิ่มเติมมากขึ้น ตลอดจนการทำงานเชิงรุก สามารถดำเนินการได้เมื่อปรากฏว่ามีเหตุทุจริต โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้อง มุ่งเน้นปราบปรามการทุจริตอย่างแท้จริง ส่วนการประพฤติผิดจริยธรรมร้ายแรงให้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วน ป.ป.ช.จังหวัดนั้น กรธ.เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมี แต่ยังไม่ใช่ข้อสรุป เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังยืนยันถึงความจำเป็นให้ต้องมีอยู่ ดังนั้นต้องรอการพิจารณาต่อของคณะอนุกรรมการ ก่อนส่งกลับมาให้ กรธ.พิจารณาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากร่างกฎหมายลูก ป.ป.ช. เป็นไปตามที่ กรธ.กำหนด พบว่า กรรมการ ป.ป.ช.เกือบทั้งหมดจะมีความเสี่ยงที่พ้นจากตำแหน่ง ยกเว้นแต่นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร ที่น่าจะได้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป.-สำนักข่าวไทย