ป.ป.ช. 2 ม.ค.-มติ ป.ป.ช. ฟันอาญา – วินัยร้ายแรง ผอ.DN การบินไทย กับพวก จ่ายเงินลงจอด-นำร่องให้เอกชน ทำสูญเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จี้การบินไทย เรียกค่าเสียหาย
นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายพฤทธิ์ บุปผาคำ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ (DN) รักษาการกรรมการผู้จัดการฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ (FZ) บริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) กับพวก ทุจริตการจัดซื้อพื้นที่ระหว่างบรรทุกสินค้าบนอากาศยาน (Aircraft block space agreement) โดยวิธีพิเศษกับบริษัทเซาเทิร์นแอร์ จำกัด (Southern AirInc. (SAI)) ตามสัญญาลงวันที่ 1 ตุลาคม 2552 โดยมิชอบ และได้ยกเว้นเหตุอันควรสงสัยขึ้นไต่สวนว่าระหว่างการดำเนินการดังกล่าวตามสัญญาบริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) มีการชำระค่าใช้จ่ายประเภท Non-ACMI ให้แก่บริษัทเอกชนดังกล่าวโดยไม่ชอบ
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่าวันที่ 5 ธันวาคม 2552 นายพฤทธิ์ ได้อนุมัติเงินค่าใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมลงจอด (Landing Fee) และค่านำร่อง (Navigation Fee) ให้แก่บริษัทเซาเทิร์นแอร์ จำกัด ที่เรียกเก็บเงินดังกล่าวพร้อมกับใบแจ้งหนี้ค่าจัดซื้อพื้นที่ระหว่างบรรทุกสินค้า ประจำเดือนพฤศจิกายน 2552 ตามสัญญาลงวันที่ 1 ตุลาคม 2552 และนายพูนศักดิ์ ชุมช่วย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายขายระหว่างสินค้าและไปรษณีย์ (FP) ได้มีหนังสือยืนยันไปยังฝ่ายบัญชีการเงินว่าบริษัทการบินไทย เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้าน Non-ACMI ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมลง และค่าธรรมเนียมนำทาง เป็นค่าใช้จ่ายที่บริษัทเซาเทิร์นแอร์ เป็นผู้รับผิดชอบ ไม่สามารถขอรับเงินคืนจากบริษัทการบินไทยได้ ซึ่งการกระทำของทั้งสองราย เป็นเหตุให้บริษัทการบินไทยต้องชำระค่าธรรมเนียมลงจอดและค่านำร่องให้แก่บริษัทเซาเทิร์นแอร์ เป็นเงินจำนวน 19,892.31 ดอลลาร์สหรัฐ และต้องชำระเงินตามที่ฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณีย์เสนอมาโดยตลอดจนถึงเดือนสิงหาคม 2554 ทำให้บริษัทการบินไทย ได้รับความเสียหาย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,550,653.17 ดอลลาร์สหรัฐ
คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าการกระทำของทั้งสองมีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐานสำหรับอิเล็กทรอนิกส์และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดให้ดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีและส่งรายงานไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยตามฐานความผิดดังกล่าว ทั้งนี้แจ้งให้บริษัทการบินไทย ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป.-314.-สำนักข่าวไทย