กรุงเทพฯ 31 ก.ค. – นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอล กล่าวว่า การควบรวมธุรกิจชีวภาพระหว่างบริษัทในเครือของเคเอสแอล และบริษัทในเครือ บมจ.บางจากฯ จะกระจายหุ้นภายใน 1 ปี หลังจากควบรวมกิจการเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคมนี้ ศึกษาแผนต่อยอดธุรกิจเคมีภัณฑ์ชีวภาพ วอนรัฐบาลส่งเสริมด้านการตลาด
นายชลัช กล่าวว่า การควบบริษัทครั้งนี้จะมีการตั้งบริษัทใหม่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 1,710,000 ลิตรต่อวัน แบ่งเป็นเอทานอลรวม 900,000 ลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล 810,000 ลิตรต่อวัน เป็นการเพิ่มขีดความสามารถและสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจและวางแผนในอนาคตจะมีการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจากที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่จึงเชื่อมั่นว่าจะได้รับความน่าสนใจในการเข้ามาร่วมทุน โดยผลิตภัณฑ์ชีวภาพจะดูไปถึงสินค้าทั้งด้านพลสติกชีวภาพ เครื่องสำอางค์ และอื่น ๆ ซึ่งทั้งบางจากฯ และเคเอสแอลต่างหารือกับพันธมิตรมาก่อนหน้านี้ หลังจากนี้จะมาร่วมกันพิจารณาว่าการร่วมทุนใดจะเกิดผลตอบแทนที่ดีที่สุด
“ในเรื่องพลาสติกชีวภาพทุกคนทราบดีว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ แต่ต้นทุนสูงเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ก็ควรกำหนดนโยบายด้านการตลาดสนับสนุน เช่น ส่งเสริมให้ผสมในภาชนะพลาสติกทั่วไปประมาณร้อยละ 20 เป็นต้น เพราะหากให้แข่งขันกันเองก็คงยากที่จะเกิดขึ้น” นายชลัช กล่าว
นายชลัช กล่าวด้วยว่า ในส่วนยอดขายของเคเอสแอลครึ่งปีหลังคงจะมีรายได้ไม่ดีเท่าครึ่งแรกของปี เพราะราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกลดลง อย่างไร ก็ตาม คาดว่ากำไรปีนี้จะดีขึ้นเป็นผลมาจากกำไรพิเศษทางบัญชีที่เกิดจากการควบรวมธุรกิจชีวภาพกับบางจากฯ โดยจะควบรวมเสร็จสิ้นเดือน ตุลาคม 2560 และจะกระจายหุ้นหลังจากนั้นภายใน 1 ปี โดยจะนำเงินไปขยายกิจการธุรกิจชีวภาพ
ตามแผนของ 2 บริษัทที่ได้ศึกษาไว้ก่อนหน้าจะมีการขยายกำลังผลิตเอทานอล ก่อสร้างเสร็จสิ้นปี 2561 โดยทางเครือเคเอสแอลจะขยายกำลังที่ จ.ขอนแก่น อีก 200,000 ลิตร/วัน ลงทุนอีก 1,000 ล้านบาท และ ทางบางจากฯ ไบโอเอทานอล ที่เครือบางจากฯ ถือหุ้นร้อยละ 80 จะขยายกำลังผลิตอีก 50,000 ลิตร เป็น 200,000 ลิตร/วัน ซึ่งจะรองรับความต้องการเอทานอลที่พุ่งสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งล่าสุดความต้องการเอทานอลของประเทศปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 4.2-4.3 ล้านลิตร/วัน
“แม้จะควบรวมแต่ยังจำหน่ายลูกค้า เช่น เชลล์และเอสโซ่ เหมือนเดิม แต่เนื่องจากบางจากฯ มีความต้องการเอทานอลในปริมาณสูง ดังนั้น การขยายกำลังผลิตก็จะรองรับความต้องการที่สูงขึ้นและการศึกษาลงทุนการผลิตชีวภาพต่อเนื่องก็จะรองรับอนาคต 20 ปีข้างหน้าที่รถไฟฟ้าอีวีจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น” นายชลัช กล่าว
ทั้งนี้ การควบบริษัท (Amalgamation) เกิดขึ้นระหว่างบริษัท บีบีพี โฮลดิ้ง จำกัด (BBH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ที่บางจากฯ ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 99.99 กับบริษัท เคเอสแอลจีไอ จำกัด (KSLGI) ที่จะได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อรับโอนและเข้าถือหุ้นร้อยละ 99.99 ในบริษัท เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KGI โดย KSLGI เป็นบริษัทย่อยของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL) จะเข้าถือหุ้นร้อยละ 99.99. – สำนักข่าวไทย