ยธ. 22 ม.ค.- อดีตอธิบดีกรมพินิจฯ เสนอ “เคอร์ฟิว” เด็กและเยาวชน แก้ปัญหาก่อเหตุกระทบสังคมหลายคดีในช่วงนี้
นายธวัชชัย ไทยเขียว กรรมการพิทักษ์คุณธรรมข้าราชการตำรวจ อดีตอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เสนอความเห็นแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนที่ก่อเหตุกระทบสังคมหลายคดีในช่วงนี้ โดยเอาตัวแบบของอเมริกามาเป็นกรณีศึกษา ด้วยการการห้ามเด็กและเยาวชนออกนอกบ้านยามวิกาลที่เกินกว่าชั่วโมงความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน(Curfew) ในหลายรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น New Orleans, Atlanta และ Washington D.C. กำหนดให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ต้องเข้าบ้านก่อน 23.00 น. วัยรุ่นที่ฝ่าฝืนจะถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานที่ออกแบบสำหรับควบคุมการหนีเรียนหรือเร่ร่อน จนกว่าผู้ปกครองจะมารับตัวไป กรณีที่พบว่าผู้ปกครองมีส่วนสนับสนุนให้เด็กละเมิดเคอร์ฟิว จะถูกปรับและต้องทำงานบริการสังคม โดยแนวคิดนี้ตนเคยเสนอเมื่อหลายปีที่แล้ว แต่ก็มีนักวิชาการบางส่วน คัดค้านเกรงจะมีเจ้าพนักงานปลอมมาหากินกับเด็กที่ทำงานหรือเรียนพิเศษนอกเวลา ซึ่งตนมองว่า ปัจจุบัน มีช่องทางตรวจสอบ โซเชียลเน็ตเวิร์ค เด็กสามารถแสดงข้อเท็จจริงได้ ซึ่งการเคอร์ฟิวเด็ก มีการใช้อยู่แล้ว ในประเทศพัฒนาหลายประเทศ
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เพียงพอที่จะทำได้ทันที โดยเจ้าภาพ ควรเป็นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผ่านคณะกรรมการคุ้มครองเด็กของจังหวัด กฎหมายทำได้เลยแบ่งเป็นกลุ่มเด็ก ที่ยังไม่ได้กระทำผิด แต่มีพฤติกรรมเสี่ยงตั้งกลุ่มตั้งแก๊งนั้น ผู้ว่าฯ จังหวัด องค์กรท้องถิ่น ศธ. กรมสุขภาพจิต และตำรวจ เข้าไปบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองเด็กได้ทันทีก่อนจะมีการก่อเหตุ ถ้าพ่อแม่ดูแลเด็กไม่ได้ กฎหมายให้ปรับพ่อแม่เด็กได้ด้วย ส่วนเด็กที่กระทำผิดแล้ว จะมีกระบวนทางศาลสั่งบังคับ กำหนดมาตรการได้
ส่วนกรณี ผบ.ตร.จะเสนอกระทรวงยุติธรรมลดอายุในการดำเนินคดีกับเด็กลงจาก 12 ปี เป็น 10 ปี นายธวัชชัย เห็นว่า ปัจจุบันที่กำหนดไว้ 12 ปี เหมาะสมแล้ว เป็นไปตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก ที่ไทยร่วมลงนาม และมีแนวทางหันเหคดีเด็ก ออก โดยที่ยังไม่ต้องมีคำพิพากษา ถ้ามีพฤติกรรมพึงประสงค์แล้วก็ไม่ต้องมีคำพิพากษาก็ได้ หากดำเนินการลงโทษเด็กเหมือนผู้ใหญ่โดยเอาเข้าเรือนจำ ซึ่งเด็กจะได้รับการลดโทษกึ่งหนึ่ง หากเด็กเติบโตเรียนรู้ในเรือนจำ แทนที่จะเป็นโรงเรียน เมื่อพ้นโทษแล้ว ก็ยังมีอายุหลายปีที่อาจโกรธแค้นสังคมจะกลับมาทำร้ายสังคม ดังนั้น กฎหมายมีอยู่แล้วใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กได้เลย .119.-สำนักข่าวไทย