อุดรธานี 11 ม.ค.- ธ.ก.ส. หนุนเกษตรกรหัวขบวน ปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรสู่ Agro-Tourism ภายใต้หลัก BCG Model ส่งเสริมองค์ความรู้พร้อมใช้ฐานข้อมูลวางแผนการบริหารจัดการ ไปยังตลาดกำลังซื้อสูง ชูศูนย์การเรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก และสวนแบงค์เบญจมาศ จ.อุดรธานี
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้ขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ในการพัฒนาศักยภาพชุมชนแบบบูรณาการภายใต้หลัก BCG Model เพื่อฟื้นฟูอาชีพ สร้างงงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวและเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาในการสนับสนุนองค์ความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจ การวางแผนทั้งด้านการผลิต การตลาด รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การแปรรูป การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า พร้อมเน้นรูปแบบการดีไซน์ การทำ packaging เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังนำฐานข้อมูลที่มีในชุมชน มาค้นหาจุดเด่นในการพัฒนาและต่อยอด รวมถึงวางแนวทางการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับความสามารถในการผลิตและความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค อันนำไปสู่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดที่มีกำลังซื้อสูงและการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) ที่เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ทำให้คนในเมืองได้มีโอกาสใกล้ชิดธรรมชาติและสัมผัสวิถีชีวิตคนในชนบท รวมถึงการดึงคนรุ่นใหม่มาต่อยอดธุรกิจในภาคการเกษตรและสามารถสร้างรายได้ไม่ต่างจากการทำงานในเมือง โดย ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านสินเชื่อที่หลากหลาย เช่น สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน และสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เป็นต้น
สำหรับศูนย์การเรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก จังหวัดอุดรธานี เป็นตัวอย่างชุมชนที่เป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ของ ธ.ก.ส. ที่มีการพัฒนาชุมชนไปสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) จากเดิมคนในชุมชนประกอบอาชีพทำนา ต่อมามีการรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก โดยมีการทอผ้าขิด ผ้าไหม ผ้าฝ้าย และการย้อมสีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีการนำกลีบบัวแดง สายบัวแดง ดอกบัวแดงและเกสรบัวแดงมาย้อมสี ซึ่งสามารถย้อมได้ถึง 3 สี โดยไม่ต้องใช้สารเคมี และมีการอนุรักษ์การทอผ้าแบบดั้งเดิมมาประยุกต์เป็นลวดลายผ้าได้อย่างหลากหลาย ซึ่งทางกลุ่มทอผ้าฯ ได้เปิดศูนย์การเรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานได้ตลอดทั้งปี
ขณะที่ สวนแบงค์เบญจมาศ จังหวัดอุดรธานี เป็นสวนดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์ที่มีการปลูกสลับผลัดเปลี่ยนตามฤดูกาล เช่น ดอกทานตะวัน ดอกคัตเตอร์ และดอกเบญจมาศ เป็นต้น โดยมีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาระบบน้ำในสวนดอกไม้ และเปิดคาเฟ่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมดอกไม้ ถ่ายรูป ดื่มกาแฟ และรับประทานอาหาร พร้อมดื่มด่ำบรรยากาศอันสวยงามได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. สนับสนุนเงินทุนให้กับลูกค้าทั้ง 2 ราย ผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อใช้พัฒนาธุรกิจให้ได้มาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถผลิตสินค้าได้มีคุณภาพและได้ปริมาณเพิ่มขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง ทั้งนี้ ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้เติบโตไปอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรให้สามารถก้าวข้ามกับดักหนี้และฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจไทยให้แข็งแรงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม.-516-สำนักข่าวไทย