กรุงเทพฯ 10 ม.ค.-การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดธุรกิจใหม่ “New Business Model of Bangkok Port” พร้อมลงนาม MOU กับ 2 บริษัทคู่ค้า เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์และการขนส่งระหว่างประเทศ ตอบสนองความต้องการของผู้นำเข้า-ส่งออก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิด ธุรกิจใหม่ท่าเรือกรุงเทพ : New Business Model of Bangkok Port” โดยมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กทท. กับบริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อ “การส่งเสริมกิจกรรมการนำเข้าตู้สินค้าขาเข้าผ่านเรือลำเลียงและกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจ” และ พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กทท. และบริษัท บ็อกซ์แมน จำกัด ผู้กระทำการแทนบริษัท Oknha Mong Port ราชอาณาจักรกัมพูชา ภายใต้ชื่อ “การส่งเสริมการนำเข้าและส่งออก และกิจกรรมการขนส่งตู้สินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ผ่านท่าเรือกรุงเทพ และสามารถส่งต่อไปยังประเทศที่สาม ทั้งทางเรือ และรถไฟ
โดย กทท. มีนโยบายในการส่งเสริมการสร้างกิจกรรมใหม่เพื่อยกระดับการให้บริการ สนับสนุนการค้าการลงทุน อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้นำเข้า-ส่งออก ให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้มากขึ้น ท่าเรือกรุงเทพได้มีโครงการต่างๆ ที่สามารถทำให้ท่าเรือกรุงเทพพัฒนาเป็น Hub ที่สำคัญของประเทศได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจกับภาคเอกชน ประกอบด้วย
1. โครงการท่าเรือพันธมิตร (Chao Phraya Super Port Project) เป็นความร่วมมือระหว่าง กทท. และ บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการนำเข้าตู้สินค้าขาเข้าจาก บริษัทสหไทยฯ มาที่ท่าเรือกรุงเทพ โดยเรือชายฝั่ง (Barge) เข้าเทียบท่าที่ท่า 20 G เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดปัญหาการจราจรทางบก ลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งของผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศให้ได้รับสินค้าอย่างรวดเร็ว เพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่อไปได้ สำหรับโครงการดังกล่าว คาดว่าจะมีปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้น 10,000 TEU ต่อปี หรือประมาณ 35-40 ล้านบาท
2. โครงการส่งเสริมการนำเข้าและส่งออก และกิจกรรมการขนส่งตู้สินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ผ่านท่าเรือกรุงเทพ เป็นการส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกและกิจกรรมการขนส่งตู้สินค้าถ่ายลำผ่านท่าเรือกรุงเทพ ไปยังประเทศที่สามทั้งทางเรือและรถไฟ เป็นความร่วมมือระหว่าง กทท. และบริษัท บ็อกซ์แมน จำกัด ซึ่งเป็นผู้กระทำแทน บริษัท Oknha Mong Port ประเทศกัมพูชา โครงการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนนโยบายโลจิสติกส์ของประเทศ (Shift mode) โดยเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำและทางราง ทดแทนการขนส่งทางถนน การลงนามบันทึกความเข้าใจจะเป็นการส่งเสริมกิจกรรมฯ ให้มีความต่อเนื่องของเที่ยวเรือและเป็นเส้นทางเดินเรือที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการขนส่งตู้สินค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้นในอนาคตและสร้างรายได้เพิ่มให้แก่องค์กรในระยะยาว
3. โครงการเขตปลอดอากรท่าเรือกรุงเทพ Bangkok Port Free Zone เป็นการให้บริการใหม่ของท่าเรือกรุงเทพ บนพื้นที่ดำเนินการ จำนวน 24,000 ตารางเมตร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนในการนำเข้าส่งออก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจ และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง กทท. กรมศุลกากร หน่วยงานเอกชน (บริษัท สปีดิชั่น ซิกม่า จำกัด) มีรูปแบบการดำเนินงาน คือ กทท. เป็นเจ้าของพื้นที่และเอกชนเป็นผู้ลงทุนและบริหารจัดการโครงการฯ โดยให้บริการคลังสินค้า ลานกองเก็บตู้สินค้า สำนักงานให้เช่า ห้องจัดแสดงสินค้า ห้องควบคุมอุณหภูมิห้องเก็บสินค้าที่มีมูลค่าสูง สำหรับกิจกรรมในเขตปลอดอากรประกอบด้วย การยกเว้นอากรขาเข้า การซื้อขายแลกเปลี่ยน การคัดแยกประเภทสินค้า การบรรจุหีบห่อและการติดฉลากใหม่ การรวมสินค้า และสามารถจัดเก็บสินค้าได้นาน 2 ปี ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายสินค้าขาเข้า – ขาออก เพิ่มความสะดวกในการดำเนินพิธีการตรวจปล่อยสินค้า สนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ยกระดับการให้บริการ เพิ่มปริมาณสินค้าผ่านท่า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคประเทศจากประเทศคู่ค้าเพื่อกระจายไปยังประเทศต่าง ๆ
ท่าเรือกรุงเทพยังมีแผนงานที่สำคัญในอนาคตอันใกล้นี้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์และการขนส่งระหว่างประเทศอีกหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตก ทกท. เป็นท่าเรือกึ่งอัติโนมัติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ ซึ่งได้มีการนำระบบ Semi Automation มาใช้ในการให้บริการขนถ่ายตู้สินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าอาคารสำนักงาน (Multimodal Transport & Distribution Center) และพื้นที่สนับสนุนท่าเรือกรุงเทพ เพื่อใช้พื้นที่ของท่าเรือกรุงเทพให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังสามารถสร้างกิจกรรมใหม่ในอนาคตเพิ่มมากขึ้นได้ เป็นการยกระดับในการให้บริการ ตลอดจนมีโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการจราจรของรถบรรทุกในการผ่านท่าเรือกรุงเทพ อีกทั้งยังเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรให้กับกรุงเทพมหานครในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีแผนงานด้านการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ให้ทันสมัยยิ่งขึ้นอีกหลายระบบ โดยเฉพาะระบบหลักในการปฏิบัติงานและให้บริการ เช่น ระบบควบคุมการผ่านเข้า-ออก ประตูตรวจสอบอัตโนมัติ (e-Gate), ระบบ Port Community System, ระบบปฏิบัติการเรือและสินค้าเวอร์ชั่นใหม่และระบบสนับสนุนงานให้บริการอื่นๆ อีกหลายรายการ อาทิเช่น ระบบอีดีโอ ระบบช่วยค้นหาและแสดงผลตำแหน่งตู้สินค้าอัตโนมัติ ฯลฯ.-513-สำนักข่าวไทย