รัฐสภา 3 ม.ค.- นายกฯ นำทีม ครม.ประชุมสภาฯ ถกงบฯ 67 วันแรก พร้อมแถลงหลักการตั้งงบแบบขาดดุล แต่เชื่อเก็บรายได้ทะลุ 2.9 ล้านล้าน เพิ่มงบลงทุนกว่า 7 แสนล้าน มั่นใจจุดเริ่มสร้างประเทศเติบโต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (3 ม.ค.) มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรก ก่อนเริ่มพิจารณาตัวแทนวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ยืนยันจะทำงานเพื่อให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ คือ 43 ชั่วโมง แบ่งเป็นฝ่ายค้าน 20 ชั่วโมง รัฐบาลและคณะรัฐมนตรี (ครม.)20 ชั่วโมง และประธานในที่ประชุม 3 ชั่วโมง
สำหรับบรรยากาศก่อนเริ่มประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สวมสูทผูกเนกไทสีเหลือง นำทีมรัฐมนตรีเข้าประจำที่ในห้องประชุมสภาฯ อย่างพร้อมเพรียง เช่นเดียวกับ สส.รัฐบาล และ สส.ฝ่ายค้าน ที่มาลงชื่อร่วมประชุมกว่า 400 คน จากจำนวน สส.ที่มีทั้งสิ้น 499 คน
นายกรัฐมนตรี แถลงหลักการและเหตุผลร่าง พ.ร.บ.งบฯ 67 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบฯ เป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนนโยบายตามที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาา เป็นไปตามแผนพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยเรื่องเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญลำดับต้น ๆ จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจระยะสั้น รวมถึงแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ในระบบ การลดราคาพลังงาน เพื่อให้ค่าใช้จ่ายประชาชนลดลง และเพิ่มขีดการแข่งขันด้านอุตสาหกรรม ด้านสังคม ความมั่นคงผ่านการพัฒนากองทัพและความมั่นคงให้ทันสมัย ใกล้ชิดประชาชน ใช้การเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ ขณะที่ในด้านการเมืองการปกครอง ประชาชนจะได้เห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แก้ไขจุดด้อยบนหลักการที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ในสังคม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับทิศทางเศรษฐกิจ 67ของสภาพัฒน์ฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.7-3.7% แต่มีปัจจัยเสี่ยงทั้งภาวะหนี้สินครัวเรือน ภาคธุรกิจ ปัญหาภัยแล้ง และความขัดแย้งโลก ซึ่งอัตราเงินเฟ้อจะอยูในช่วง 1.7 – 2.7% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ทั้งนี้ ในภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลต้องทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษี การขายสินค้า บริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวม 2.9 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.4% จากปี 66 หักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 125,800 ล้านบาท ทำให้คงเหลือเป็นรายได้สุทธิ ที่จัดสรรเป็นรายจ่ายรัฐบาล จำนวน 2.7 ล้านล้านบาท
“โดยสรุปงบฯ ปี 67 ประมาณรายจ่าย 3.480 ล้านล้านบาท คาดว่ามีรายได้จากการจัดเก็บได้ 2.787 ล้านล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 6.93แสนล้านบาท แม้การจัดสรรงบปี 67 จะเพิ่มขึ้น 9.3% แต่รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น 11.9% ทำให้สามารถจัดสรรงบไปลงทุนได้กว่า 7.17แสนล้านบาท และสามารถชดใช้เงินคงคลังและชำระคืนต้นเงินกู้ได้กว่า 1.18 แสนล้านบาท เป็นการเตรียมพร้อม ทำให้รัฐบาลมีกรอบการลงทุนในระยะกลางและยาวในปีงบประมาณ 2568” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้จัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 6 ด้าน อาทิ ความมั่นคง วงเงิน 3.90 แสนล้านบาท ด้านความสามารถในการแข่งขัน วงเงิน 3.93 แสนล้านบาท การพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ วงเงิน 5.61แสนล้านบาท การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม วงเงิน 8.43 หมื่นล้านบาท สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วงเงิน 1.31 แสนล้านบาท การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ วงเงิน 604,804 ล้านบาท เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ อาทิ กองทัพ คมนาคม รัฐบาลดิจิทัล รวมถึงยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนการให้บริการ เพิ่มขีดสามารถการแข่งขันและแก้ปัญหา เช่น ยาเสพติด เป็นต้น
“สำหรับตัวเลขหนี้สาธารณะคงค้าง เมื่อ 31 ต.ค.2566 จำนวน 11 ล้านล้านบาท คิดเป็น 62.1% ของจีดีพี ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ 70% โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงิน และการค้ำประกัน จำนวนทั้งสิ้น 10 ล้านล้านบาท ขณะที่ฐานะเงินคงคลัง เมื่อ 31 ต.ค. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.97 แสนล้านบาท ซึ่งในการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 3.46 แสนล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ 1.18แสนล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 2.28แสนล้านบาท โดยการบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดจะเป็นจุดเริ่มต้นการทำนโยบายระยะสั้นถึงระยะยาว โดยรัฐบาลจะใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตประเทศ และเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรัฐมนตรีใช้เวลาอ่านคำแถลงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.งบฯ 67 ประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที.-312.-สำนักข่าวไทย