กรุงเทพฯ 21 ธ.ค. – “อนุทิน-แพทองธาร” ร่วมประชุม ถกแผนผลักดันสงกรานต์ติดท็อป 10 สุดยอดเทศกาลของโลก สร้างเงินสะพัด 3.5 หมื่นล้าน ย้ำมหาดไทยพร้อมหนุนทุกนโยบายรัฐบาลสร้างงาน เสริมรายได้ประชาชนอย่างยั่งยืน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในฐานะประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้เป็นประธานการประชุม การพิจารณาวางแผนการจัดงาน Maha Songkran World Water Festival ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ทั้ง 11 สาขา โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ และนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วม และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเข้าร่วมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS)
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีโอกาสต้อนรับคณะบุคคลที่มีความหลากหลายทางด้านประสบการณ์ทั้งผลงานและการทำงาน ที่จะมาร่วมผลักดันภารกิจซอฟต์พาวเวอร์ ดูเป็นบรรยากาศที่น่าตื่นเต้น เริ่มต้นโอกาสใหม่ๆของคนไทย ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยเองถือเป็นกระทรวงแรกๆ ที่ได้ดำเนินการในเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาก่อน อาทิ การขับเคลื่อนสินค้า OTOP ที่ดำเนินการมา 2 ทศวรรษตั้งแต่ยุคที่ท่านทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมีการพัฒนาเรื่อยมาเป็นฐานสำคัญที่จะต่อยอดไปเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ตามนโยบายของรัฐบาล
จากนั้น ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแนวคิด แผนงาน การจัดงาน Maha Songkran World Water Festival เพื่อพิจารณาขอการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ การขอรับสนับสนุนพื้นที่จัดงานโดยกรุงเทพมหานคร การให้ทุกจังหวัดจัดส่งขบวนรถพาเหรดเข้าร่วม ส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นดีของเด่นของแต่ละจังหวัดเพื่อจำหน่ายภายในงาน การสนับสนุนพื้นที่ การสนับสนุนน้ำสะอาดสำหรับการจัดกิจกรรมของการประปานครหลวง ตลอดจนการจัดหากระแสไฟฟ้า ประดับไฟในการจัดงานโดยการไฟฟ้านครหลวง
นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเฟสติวัล กล่าวว่า แนวทางเบื้องต้นของงาน Songkran World Water Festival จะมีการตั้งคณะทำงานที่ทำหน้าที่ชูสงกรานต์ทั้ง 77 จังหวัดตลอดเดือน เม.ย. 67 และผลักดันให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอด Festival ของโลก ผสมผสานการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ตั้งเป้าหมายที่จะให้เทศกาลนี้สร้างรายได้ให้ประเทศ 3.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ คณะทำงานได้นำเสนอข้อมูลที่จะจัดงานที่ท้องสนามหลวง และมีขบวนพาเหรด ผ่านบนถนนราชดำเนินไปยังท้องสนามหลวง โดยจัดงานระหว่างวันที่ 12-15 เม.ย. 67 ซึ่งวันที่ 12 เม.ย. จะเป็นวันเคาท์ดาวน์ที่สนามหลวง และระหว่างวันที่ 13-15 เม.ย. เป็นขบวนพาเหรดและกิจกรรมต่างๆ ด้วยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้ง 77 จังหวัด ความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐเอกชนและ 10 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์
ทางด้านนายชาดา กล่าวว่า การใช้สงกรานต์กรุงเทพฯ ทำซอฟต์พาวเวอร์อาจมีประเด็นที่ต้องพิจารณาในเรื่องของการจัดกิจกรรม โดยเฉพาะหากดึงขบวนพาเหรดจากทุกจังหวัดเข้ามากรุงเทพฯ ทำอย่างไรจะไม่กระทบรูปแบบการละเล่นที่ปกติจะเป็นการเดินเล่นน้ำ และจะต้องมีการสร้างพลังเสริมเช่นการเชิญชวนสวมใส่ผ้าไทย และสร้างกระแสในโซเชียลมีเดีย เป็นต้น
ขณะที่ นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การจัดมหาสงกรานต์ในกรุงเทพฯ นั้นอาจจะต้องพิจารณาในมิติวิถีชีวิตของคนไทย ที่โดยปกติสงกรานต์จะเป็นช่วงที่คนไทยเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อรวมญาติหรืออยู่กับตความครัว และสงกรานต์เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับท้องถิ่นทุกจังหวัดในทุกปี แนวทางที่น่าสนใจอีกทางหนึ่งคืออาจจะเป็นการส่งเสริมให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดสงกรานต์ให้ใหญ่มากขึ้นและแพร่หลายมากขึ้น เช่น ขอนแก่นมีถนนข้าวเหนียว เชียงใหม่มี Water Festival อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สามารถดึงคนมาเลเซีย สิงคโปร์มาท่องเที่ยวเป็นต้น
นายอนุทิน กล่าวในตอนท้ายว่า ซอฟต์พาวเวอร์เป็นนโยบายหลักรัฐบาล ซึ่งยืนยันว่ากระทรวงพร้อมจะสนับสนุนทุกนโยบายของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน โดยข้อเสนอของท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นมุมมองจากผู้มีประสบการณ์ที่มองเห็นสังคมในทุกมิติ ดังนั้น หากทีมงานคณะอนุกรรมการฯ มีการสรุปรูปแบบได้อย่างเหมาะสมแล้ว กระทรวงมหาดไทยก็พร้อมสนับสนุนให้ความร่วมมือได้ต่อไป
“การประชุมในครั้งนี้ ทำให้มองเห็นแนวคิดการจัดงาน รับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งฝ่ายนโยบายและผู้ที่จะรับไปปฏิบัติ ซึ่งคณะทำงานจะได้กลับไปจัดทำรายละเอียดและกลับมานำเสนอ และพิจารณาอนุมัติ การทำงานในส่วนต่างๆ ในการประชุมครั้งต่อไป” นายอนุทิน กล่าว .-317-สำนักข่าวไทย