กทม. 7 ธ.ค. – กทม.มุ่งพัฒนาการศึกษาดึงดูดการลงทุนในประเทศ ตั้งเป้าเพิ่มคะแนน PISA เทียบเท่าค่าเฉลี่ย OECD
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องผลการประเมิน PISA 2022 ของประเทศไทย ที่นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยทุกวิชาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ณ บริเวณชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง วันนี้ (7 ธ.ค.) ว่า ซอฟต์พาวเวอร์ คือพลังในการดึงดูดโดยไม่ต้องบังคับ ซึ่งเรื่องการศึกษาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ต้องให้ความสำคัญก่อนทุกเรื่อง เพราะคุณภาพของคนเป็นพลังในการดึงดูดการลงทุนจากทั้งในประเทศและนอกประเทศ หากเราทำตรงนี้ไม่ได้ การจะเอาชนะใจคนให้เขามาลงทุนกับเราก็เป็นเรื่องยาก
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ หากการศึกษายังมีคุณภาพไม่ดี สุดท้ายการพัฒนาและการแก้ปัญหาเมืองก็จะเป็นไปได้ยาก จึงได้สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ความสำคัญและใส่ใจกับเรื่องนี้โดยตรง เพราะผลการประเมิน PISA (Programme for International Student Assessment หรือโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล) ซึ่งได้มีการประเมินเรื่องความฉลาดรู้ (Literacy) ใน 3 ด้าน ได้แก่ ความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน และความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ เป็นมาตรฐานการประเมินที่ทั่วโลกจะได้เห็นว่าคุณภาพของเด็กไทยเป็นอย่างไร คุณภาพของแรงงานไทยเป็นอย่างไร ซึ่งส่งผลต่อกระทบความน่าเชื่อถือและมีผลกับการตัดสินใจลงทุนในกรุงเทพฯ และระดับประเทศด้วย
“เราสร้างคนแล้วคนก็จะมาสร้างเมือง ถ้าคนไม่มีคุณภาพก็ยากที่จะสร้างเมืองที่มีคุณภาพได้ เชื่อว่าหลายสิ่งที่ทำในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการเรียนแบบให้เด็กเป็นศูนย์กลาง การนำเทคโนโลยีมาใช้ในห้องเรียนให้มากขึ้น การลดภาระครูเพื่อให้ครูมีเวลากับเด็กมากขึ้น จะทำให้คุณภาพการศึกษาของกรุงเทพมหานครเป็นไปในทิศทางที่ดี และวันนี้ได้มอบหมายให้นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. หาแนวทางยกระดับการศึกษาของนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพิ่ม Action Plan ต่าง ๆ และกำหนดงบประมาณให้สอดคล้อง โดยเป้าหมายขั้นต้นต้องให้มีผลคะแนนการประเมิน PISA ในครั้งต่อไปอยู่ในมาตรฐานของ OECD” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า เบื้องต้นจะมีการพิจารณา ศึกษาแนวทางในการปรับปรุงแนวข้อสอบต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับเดียวกันกับ PISA ที่เป็นการสอบโดยเน้นการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ พร้อมกับอาจจะนำ Student Outcome มาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูด้วย. -สำนักข่าวไทย