01 ธันวาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทางสื่อโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งขณะนั้นกำลังลุ้นการเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันเพื่อชิงท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสถานี Fox News ว่า ราฟาเอล ครูซ บิดาของ เท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกรัฐเท็กซัส คู่แข่งจากพรรคเดียวกัน มีส่วนพัวพันในคดีลอบสังหาร จอห์น เอฟ. เคนเนดี หลังมีหลักฐานภาพถ่ายบุคคลที่คล้ายกับ ราฟาเอล ครูซ ไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองร่วมกับ ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลั่นไกสังหารอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1963
บทสรุป :
- การตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญไม่พบหลักฐานว่าชายที่ถ่ายภาพร่วมกับมือสังหารเจเอฟเค เป็นคนเดียวกับพ่อคู่แข่งเลือกตั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์
- การตรวจสอบพบว่า National Enquirer ซึ่งตีพิมพ์ภาพถ่าย มีประวัติให้การสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ ในระหว่างหาเสียงอย่างเต็มที่
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
หลักฐานที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวอ้าง นำมาจากภาพถ่ายที่ตีพิมพ์ใน National Enquirer หนังสือพิมพ์หัวสีของสหรัฐอเมริกา เป็นภาพถ่ายที่เมืองนิวออร์ลีนส์ช่วงเดือนสิงหาคม 1963 แสดงภาพการร่วมกิจกรรมแจกใบปลิวของ ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ กับ Fair Play for Cuba Committee กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนการต่อสู้ของกลุ่มปฏิวัติคิวบาของ ฟิเดล คาสโตร และต่อต้านการแทรกแซงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
ข้อมูลการสอบสวนโดยคณะกรรมการวอร์เรนระบุว่า ชายในเสื้อสีขาวที่อยู่ทางซ้ายของภาพคือ ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ อดีตนาวิกโยธินผู้มีแนวคิดฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และถูกตั้งข้อหาในฐานะผู้ลั่นไกสังหาร จอห์น เอฟ. เคนเนดี ในอีก 3 เดือนถัดมา
แม้ข้อมูลอย่างเป็นทางการจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าบุคคลอื่น ๆ ที่อยู่ในภาพถ่ายคือใคร แต่การตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านภาพถ่าย 2 รายที่ National Enquirer ว่าจ้างให้มายืนยันต่างลงความเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ชายในเสื้อสีขาวที่อยู่ทางขวาของภาพ คือ ราฟาเอล ครูซ บิดาของ เท็ด ครูซ นั่นเอง
มีการนำภาพถ่ายของราฟาเอล ครูซในอดีตมาใช้ในการเปรียบเทียบ ทั้งภาพถ่ายในเอกสารกระทรวงศึกษาธิการคิวบาเมื่อปี 1954 และภาพถ่ายระหว่างการร่วมการชุมนุมประท้วงเมื่อปี 1959
การตรวจสอบความคล้ายคลึง
อย่างไรก็ดี Fact Checker หลายสำนักในต่างประเทศ ได้สอบถามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านภาพถ่ายเพื่อตรวจสอบข้อกล่าวอ้างของ National Enquirer ซึ่งทุกรายต่างลงความเห็นว่า ไม่มีหลักฐานใดยืนยันได้ว่าบุคคลในภาพคือ ราฟาเอล ครูซ
เจมส์ เวย์แมน อดีตผู้อำนวยการศูนย์พิสูจน์ตัวตนด้วยระบบไบโอเมตริกแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (U.S. National Biometric Test Center) อธิบายว่า วิธีที่ถูกต้องในการยืนยันว่าบุคคลที่อยู่ในภาพถ่าย 2 ภาพคือบุคคลเดียวกัน จำเป็นต้องใช้ใบหน้าตรงจากทั้ง 2 ภาพมาเปรียบเทียบกัน
โคล คาริสตา หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี ของ Kairos บริษัทซอฟต์แวร์ด้านการจดจำใบหน้า ชี้แจงว่า เป็นเรื่องยากที่จะยืนยันบุคคลจากภาพถ่ายที่เก่าและไม่ชัดเช่นนี้
มีการนำภาพที่กล่าวอ้างจากปี 1963 และภาพ ราฟาเอล ครูซ ตัวจริงในปี 1959 มาตรวจสอบด้วยซอฟต์แวร์ด้านการจดจำใบหน้าของ Kairos ซึ่งแม้จะมีการตั้งเกณฑ์ความคล้ายคลึงเอาไว้ต่ำถึง 25% แล้ว โปรแกรมก็ไม่พบความคล้ายคลึงของบุคคลใน 2 ภาพแต่อย่างใด
การต่อต้านคอมมิวนิสต์ของราฟาเอล ครูซ
ราฟาเอล ครูซ ถูกเชื่อมโยงกับคิวบาและคอมมิวนิสต์ เนื่องจากเขาเป็นชาวอเมริกันที่อพยพมาจากคิวบาสมัยยังเป็นนักศึกษาเมื่อปี 1956 โดยสมัยวัยรุ่นยังเคยร่วมขบวนการ 26 กรกฎาคมของ ฟิเดล คาสโตร เพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของคิวบาอีกด้วย
แต่เมื่อเขากลับไปเยือนคิวบาในปี 1959 หลังการปฏิวัติคิวบาประสบความสำเร็จ เขาก็ต้องผิดหวังเมื่อพบว่าผู้นำที่เขาเคยศรัทธากลับสถาปนาตนขึ้นเป็นผู้นำเผด็จการคนใหม่ และเปลี่ยนประเทศให้เป็นคอมมิวนิสต์ ราฟาเอล ครูซ จึงตัดสินใจกลับมายังอเมริกา และไม่เคยหวนคืนบ้านเกิดของตนอีกเลยนับแต่นั้น
จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ ราฟาเอล ครูซ จะกลับไปสนับสนุนฟิเดล คาสโตรอีกครั้งในปี 1963 นอกจากนี้ ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญยังไม่พบหลักฐานว่า ราฟาเอล ครูซ มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการสนับสนุนคิวบาอีกเช่นกัน
ส่วนคำให้การของ มาเรียนา ออสวอลด์ ภรรยาหม้ายของลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ต่อคณะกรรมการวอร์เรน ยืนยันว่าอดีตสามีของเธอเข้าร่วมกลุ่ม Fair Play for Cuba Committee เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าพยายามสร้างเครือข่ายด้วยการดึงสมาชิกรายอื่น ๆ เข้ามาเป็นพวก
ความสัมพันธ์ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ National Enquirer
หลายปีที่ผ่านมา National Enquirer มักตีพิมพ์เนื้อหาเอื้อประโยชน์ให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 National Enquirer เน้นการเผยแพร่เนื้อหาสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์และโจมตีคู่แข่งของเขาอย่างชัดเจน
การถูก National Enquirer โจมตีชีวิตครอบครัว ทำให้ เท็ด ครูซ และ โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาโจมตีกันและกันอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2016 แต่ภายหลัง เท็ด ครูซ ได้กลายเป็นหนึ่งในนักการเมืองฝั่งรีพับลิกันที่ค่อยปกป้องการทำงานของ โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างชัดเจน ทั้งยังเป็นผู้เขียนข้อความชื่นชม โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อครั้งที่นักการเมืองวัย 77 ปีติดอันดับ 100 บุคคลทรงอิทธิพลของนิตยสาร Time เมื่อปี 2018
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.usatoday.com/story/news/factcheck/2023/01/18/fact-check-false-claim-cia-admitted-jfk-assassination/11041561002/
https://en.wikipedia.org/wiki/CIA_Kennedy_assassination_conspiracy_theory
https://edition.cnn.com/2023/06/30/politics/jfk-assassination-documents-national-archives-review/index.html
https://www.foxnews.com/politics/national-archives-completes-review-jfk-assassination-documents-99-publicly-available-white-house
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter