22 พฤศจิกายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทาง X(Twitter) ในสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่าธารน้ำแข็งปีเตอร์มันน์ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของดินแดนกรีนแลนด์และใกล้กับบริเวณขั้วโลกเหนือ มีปริมาณน้ำแข็งเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อนำภาพถ่ายดาวเทียมธารน้ำแข็งของปี 2012 และ 2023 มาเปรียบเทียบกัน พบว่ามีน้ำแข็งเพิ่มขึ้น พร้อมย้ำว่าตลอด 11 ปีที่ผ่านมา น้ำแข็งในธารน้ำแข็งปีเตอร์มันน์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 เมตรต่อวัน แสดงให้เห็นว่าธารน้ำแข็งในดินแดนกรีนแลนด์และแถบขั้วโลกเหนือไม่ได้ลดลงเหมือนที่กลุ่มรณรงค์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสื่อกระแสหลักพยายามนำเสนอ
บทสรุป :
- ธารน้ำแข็งปีเตอร์มันน์เคยสูญเสียมวลน้ำแข็งอย่างมากก่อนปี 2012 การเพิ่มขึ้นของมวลน้ำแข็งในปี 2023 จึงทำให้เข้าใจผิดว่าขั้วโลกเหนือมีธารน้ำแข็งเพิ่มขึ้น
- นับตั้งแต่ปี 2002 ขั้วโลกเหนือสูญเสียมวลน้ำแข็งไปแล้ว 5.2 ล้านล้านเมตริกตัน หรือเฉลี่ย 2.7 แสนล้านเมตริกตันต่อปี
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
แม้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือ NASA จะยืนยันว่าน้ำแข็งบริเวณปากแม่น้ำของธารน้ำแข็งปีเตอร์มันน์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.3 เมตรต่อวันจริง แต่ภาพรวมแล้วปริมาณน้ำแข็งของธารน้ำแข็งปีเตอร์มันน์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 11 ปีที่ผ่านมา
อเล็กซ์ การ์ดเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านหิมะและน้ำแข็ง (Cryosphere) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือ NASA ชี้แจงว่า ภาพถ่ายปี 2012 ที่นำมาเปรียบเทียบเป็นช่วงที่ธารน้ำแข็งปีเตอร์มันน์ผ่านการสูญเสียปริมาณน้ำแข็งครั้งใหญ่มาก่อนหน้านี้ถึง 2 ครั้ง หลังการแยกตัวของภูเขาน้ำแข็งขนาด 250 ตารางกิโลเมตรเมื่อปี 2010 ส่วนปี 2012 ก็เกิดการแยกตัวของภูเขาน้ำแข็งขนาดเท่ากับ 1 ใน 3 ของภูเขาน้ำแข็งเมื่อปี 2010 อีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าน้ำแข็งที่เข้ามาแทนที่ส่วนที่แยกตัวออกไปเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เมื่อธารน้ำแข็งด้านหลังถูกดันลงมาแทนที่พื้นน้ำแข็งที่หายไป แม้การเติมเต็มธารน้ำแข็งบริเวณดังกล่าวจะดูเหมือนว่าธารน้ำแข็งปีเตอร์มันน์มีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่แท้จริงแล้วธารน้ำแข็งปีเตอร์มันน์มีปริมาณน้ำแข็งโดยรวมลดลงทุก ๆ ปี
รูธ มอทแทรม นักวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถาบันอุตุนิยมวิทยาประเทศเดนมาร์ก (DMI) ชี้แจงว่าปัจจัยที่ทำให้ธารน้ำแข็งสูญเสียปริมาณน้ำแข็งมีด้วยกัน 3 ประการ คือ 1.มีอัตราการละลายของน้ำแข็งสูงกว่าปริมาณน้ำแข็งที่สะสมจากปริมาณหิมะในแต่ละปี 2. การแยกตัวของภูเขาน้ำแข็ง 3. การละลายใต้ธารน้ำแข็งจากอุณหภูมิน้ำทะเล
งานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 ของ เอริค ริกนอต นักธรณีวิทยาที่ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อพืดน้ำแข็งขั้วโลก พบว่าบริเวณใต้ธารน้ำแข็งปีเตอร์มันน์ถูกความอุ่นของน้ำทะเลละลายน้ำแข็งด้านใต้เป็นระยะทาง 60-80 เมตรต่อปี ส่งผลให้น้ำแข็งในธารน้ำแข็งปีเตอร์มันน์มีปริมาณลดลง
ภาพถ่ายดาวเทียมของ NASA ยืนยันว่าธารน้ำแข็งปีเตอร์มันน์มีปริมาณน้ำแข็งลดลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้การสำรวจธารน้ำแข็งอีกกว่า 300 แห่งในดินแดนกรีนแลนด์พบว่า แต่ละแห่งก็มีปริมาณน้ำแข็งลดลงอย่างชัดเจนเช่นกัน
ข้อมูลจาก NASA พบว่า ช่วงปี 1972-2018 ธารน้ำแข็งปีเตอร์มันน์สูญเสียปริมาณน้ำแข็งไปถึง 5.6 พันล้านเมตริกตัน
ส่วนดินแดนกรีนแลนด์มีอัตราการสูญเสียน้ำแข็งปีละ 2.7 แสนล้านเมตริกตัน หรือสูญเสียน้ำแข็งตั้งแต่การสำรวจเมื่อปี 2002 ไปแล้ว 5.2 ล้านล้านเมตริกตัน
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.reuters.com/fact-check/greenlands-petermann-glacier-getting-smaller-not-growing-2023-09-20/
https://www.usatoday.com/story/news/factcheck/2023/09/28/greenland-petermann-glacier-lost-ice-over-past-decade-fact-check/70914503007/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter