ทำเนียบ 21 พ.ย.-“วราวุธ” เผยความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยเมืองเล่าก์ก่าย พบ 6 จาก 266 คน มีหมายจับ พร้อมประสานหลายฝ่ายดูแลเหยื่อค้ามนุษย์ตามกระบวนการ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยที่กลับจากเล่าก์ก่าย ตามกระบวนการภายหลังการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) ว่า ตามกระบวน NRM เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ โดยกระทรวงพม.จะทำรายงานแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ประการแรก การดำเนินคดีและการฟ้องร้อง ซึ่งคงเป็นการดำเนินการของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกลไกของศาล ประการที่สองการเยียวยา และดูแลผู้ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของ พม. ประการที่สาม การป้องกันสร้างความตระหนักรับรู้ มาตรการต่างๆ ซึ่งทางกระทรวงแรงงานก็จะเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้น การทำงานเกี่ยวกับเรื่อง NRM รวมถึงเรื่องการค้ามนุษย์ ในภาพรวมจะมี 3-4 หน่วยงานดูแล
นายวราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้ก็กำลังรอความชัดเจน จากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนว่า คดีที่เกิดขึ้นเป็นการค้ามนุษย์หรือไม่ ทั้งนี้ในกรณีเลาก์ก่ายนี้ ตนทราบว่าคนไทยในเล้าก์ก่าย 266 ราย ได้รับการช่วยเหลือ และผ่านการคัดกรองแล้ว 260 ราย ส่วนอีก 6 รายตรวจสอบพบว่ามีหมายจับ จึงคุมตัวไว้ที่สนามบิน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชนกระทรวง พม.ได้ทำงานอย่างเข้มข้นในการตรวจสอบ และคัดกรองว่ากลุ่มนี้จะเข้ากระบวนการ NRM หรือไม่ หากเข้าข่ายค้ามนุษย์ ก็จะต้องดึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน
“หากเข้าข่ายกรณีที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ไปทำงานที่เมืองเล้าก์ก่ายโดยไม่สมัครใจ กระทรวงพม.จะส่งทีมสหวิชาชีพเข้าไปดูแล ทั้งนักจิตวิทยา และนักสังคมเคราะห์ จะให้การสนับสนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่พูดถึงถูกหรือผิด แต่ถ้าได้รับผลกระทบ หรือลี้ภัยเข้ามากระทรวง พม.จะดูแลทั้งหมด นายวราวุธ กล่าว
ส่วนกรณีที่คนไทยในเล่าก์ก่าย กังวลว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม และอาจถูกดำเนินคดี นายวราวุธ กล่าวว่า การดำเนินคดีจะดูตามข้อเท็จจริง หากไปโดยสมยอม หรือถูกบังคับ ก็จะต้องช่วยเหลือเยียวยา แต่หากสืบสวนแล้วพบว่า มีคดีติดตัวเช่นเดียวกันกับ 6 รายที่ถูกจับกุมที่สนามบิน ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ขอให้ความมั่นใจว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ และกระทรวงพม.จะดูแลสวัสดิภาพ และสวัสดิการต่างๆ ให้ ทั้งนี้ กฎหมายก็คือกฎหมาย หากสืบสวนแล้วมีข้อสงสัยตอบได้ไม่เป็นไร แต่ถ้าตอบไม่ได้ ก็คงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ
สำหรับกระบวนการ NRM ของคนไทยในเล้าก์ก่าย 200 กว่าราย นายวราวุธ กล่าวว่า การสืบข้อมูล และอ่านข้อมูลแต่ละรายมีความซับซ้อน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีฐานข้อมูลของหลายหน่วยงาน จึงต้องใช้เวลา
เมื่อถามว่าหากสถานการณ์ในเมียนมารุนแรงมากขึ้น อาจทำให้มีผู้ลี้ภัยต่างด้าวเข้ามาในไทย และอาจจะเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ทางการไทยจะนำบุคคลเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการ NRM หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า เราจะดูแลสิทธิมนุษยชน และสวัสดิภาพขั้นพื้นฐาน
ส่วนขั้นตอนการนำเข้าสู่ NRM ขอไปศึกษาก่อน เพราะเพิ่งมารับตำแหน่ง ยังไม่มีข้อมูลในมือ แต่การจะส่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลับประเทศต้นทางหรือประเทศที่ 3 หรือไม่นั้น พม.ไม่มีสิทธิตัดสินเรื่องนี้คนเดียว ต้องหารือร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพื่อประสานกับประเทศต่างๆ ถึงแนวทางการดำเนินการ “ขอสื่อสารไปถึงสังคมว่า คนที่ถูกบังคับไปทำงานมีเหตุจำเป็น เข้าใจผู้ที่ถูกหลอก คงต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา คนที่โดนหลอกทรัพย์สินก็หายไป ขณะที่คนที่ถูกบังคับก็มีเหตุจำเป็นบางอย่าง ที่ทำให้เขาต้องทำแบบนั้น คงโทษใครไม่ได้ ถ้าจะดำเนินการต้องศึกษาไปถึงต้นต่อ และดำเนินคดีจนถึงที่สุด” นายวราวุธ กล่าว.-สำนักข่าวไทย