กรุงเทพฯ 16 ก.ค. – ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลเตรียมพร้อมรับระบบลอยตัวราคาน้ำตาล หวังให้ทันประกาศใช้ 1 ธ.ค. นี้
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลอยู่ระหว่างเร่งหาข้อสรุปแนวทางการบริหารจัดการหลังยกเลิกโควตาและลอยตัวราคาน้ำตาล เพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ทันภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงฤดูการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2560/2561 หลังจากสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้นำเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ต่อ ครม.ก่อนหน้านี้ แต่เนื่องจากตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ต้องเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชนผู้บริโภค สอน.จึงต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งผ่านทางเว็บไซต์ของ สอน.ก่อนจัดทำเป็นข้อสรุปประกอบการพิจารณาพร้อมร่างกฎหมายที่จะนำเสนอ ครม.อีกครั้ง หาก ครม.เห็นชอบจะส่งร่างดังกล่าวไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กระบวนการทำงานการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขปรับปรุงมีความรวดเร็ว เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายและถูกต้องตามกฎระเบียบการค้าโลก ทาง สนช.จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เพื่อศึกษาการปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายและตัวแทนจากชาวไร่อ้อย เพื่อให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาให้ครอบคลุมครบทุกด้าน ซึ่งเป็นการทำงานคู่ขนานกับ สอน.ที่ทำให้กระบวนการพิจารณากฎหมายดังกล่าวมีความรวดเร็วสามารถประกาศใช้ทันก่อนเปิดฤดูการหีบอ้อยนี้
สำหรับร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ฉบับปรับปรุงเป็นหนึ่งในกระบวนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมและลดข้อพิพาทจากประเทศบราซิล หลังกล่าวหาว่าไทยมีการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายและอุดหนุนราคาภายในประเทศ ทำให้โครงสร้างราคาบิดเบือน โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับปรับปรุงดังกล่าว ได้แก่ การลดบทบาทการกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย การยกเลิกโควตาน้ำตาลทรายนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกลไกตลาด การยกเลิกการอุดหนุน 160 บาท ให้แก่ผู้เพาะปลูกอ้อย และการเพิ่มนิยามความหมายของอ้อยให้สามารถนำไปทำสินค้าประเภทอื่นได้ เป็นต้น
“ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามช่วยกันสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่จะเปลี่ยนแปลงใหม่ให้มีความเข้มแข็งขึ้น โดยมุ่งหวังว่าการร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ ซึ่งคณะกรรมการที่ สนช.แต่งตั้งจะพิจารณาศึกษากรอบโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมนี้ด้วยความรอบคอบสอดคล้องกับกฎระเบียบการค้าโลกสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นใหม่และนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อให้ประกาศใช้ได้ทันก่อน 1 ธ.ค.” นายสิริวุทธิ์ กล่าว. – สำนักข่าวไทย