อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ 15 ก.ค. – ธ.ก.ส.ร่วมกับ คปภ.ลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ให้ความรู้ประกันภัยพืชผล พร้อมขยายประกันภัยข้าวโพด หลังประกันภัยนาข้าวได้รับความสนใจจากเกษตรกร
นายสุพัฒน์ เอี่ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลเปิดให้เกษตรกรชาวนาเข้าร่วมโครงการประกันภัยพืชผลปลูกข้าวนาปีฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ออกพื้นที่ทำความเข้าใจและเปิดให้เกษตรกรลงทะเบียนในอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ นับว่าชาวบ้านสนใจมาลงทะเบียนจำนวนมาก ดังนั้น จึงเตรียมขยายไปยังพืชเศรษฐกิจประเภทอื่น เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ทั้งไม้ยืนต้น ผลไม้ ปศุสัตว์ ประมง เบื้องต้นอาจเริ่มนำร่องทำประกันในการปลูกข้าวโพด เนื่องจากเกษตรกรหลายพื้นที่ปลูกจำนวนมากประมาณ 6-7 จังหวัด อาทิ เพชรบูรณ์ ลพบุรี นครราชสีมา เลย สระบุรี
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. บริษัทประกันวินาศภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาการกำหนดเบี้ยประกันและการชดเชยแบ่งเป็นตามช่วงการเพาะปลูกข้าวโพด ซึ่งแตกต่างจากการประกันภัยข้าว แบ่งเป็นช่วงแรกการหยอดเมล็ดข้าวโพดให้งอก หากเกิดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม แจ้งชดเชยสินไหมจากบริษัทประกันได้ ช่วง 2 ระยะตั้งตัวการติดฝัก หากออกดอกหัวไม่ติดฝัก เนื่องจากปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอจากปัญหาฝนทิ้งช่วง จะคิดคำนวณการชดเชยสินไหมอีกระดับหนึ่ง ช่วง 3 ระยะติดฝัก หากประสบปัญหาภัยธรรมชาติหลักตามกำหนดทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ต้องชดเชยอีกรูปแบบหนึ่ง คาดว่าสรุปแนวทางภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อเสนอรัฐบาลพิจารณาการประกันภัยข้าวโพด รองรับการปลูกข้าวโพดรอบ 2 กลางเดือนสิงหาคมนี้
นายสมบูรณ์ ดาศรี ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนโยบายรัฐ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ปีนี้รัฐบาลกำหนดพื้นที่เป้าหมายดึงชาวนาประกันภัยพืชผล 30 ล้านไร่ สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีของธนาคารคิดเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่ เกษตรกรไม่ต้องออกค่าเบี้ยประกัน เพราะรัฐบาลและ ธ.ก.ส.อุดหนุน โดยรัฐบาลอุดหนุนเบี้ยประกันภัย 54 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส.จะอุดหนุนเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลืออีก 36 บาทต่อไร่ สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 จึงอยากให้เกษตรรีบไปขึ้นทะเบียนการปลูกข้าวภายใน 60 วัน ตั้งแต่เริ่มปลูกข้าวปีนี้
นอกจากนี้ กำหนดวงเงินคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ สำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนักภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้ เพิ่มจากปีก่อน 2559 วงเงินคุ้มครอง 1,111 บาทต่อไร่ และวงเงินความคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด (ปีการผลิต 2559 วงเงินคุ้มครอง 555 บาทต่อไร่) คาดว่าเกษตรกรที่ไม่ใช่ลูกค้า ธ.ก.ส. 800,000 ครัวเรือน พื้นที่ 2 ล้านไร่ จะเข้าร่วมโครงการมากขึ้น และหากเกิดความเสียหายยังมีคณะกรรมการระดับพื้นที่เข้าไปตรวจสอบ เพื่อเคลมประกันและจ่ายชดเชยภายใน 15 วัน นับแต่ประเมินความเสียหาย.-สำนักข่าวไทย