กรุงเทพฯ 13 พ.ย.- ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยยินดีที่นายกฯ เอาจริงเรื่องแก้ปัญหา “หมูเถื่อน” แต่ขอให้เร่งแก้ปัญหา “หมูถูก” พ่อค้ากดราคาหน้าฟาร์ม ขายขาดทุนต่อเนื่อง ซ้ำถูกรายใหญ่ขยายสาขาทั่วประเทศ ตั้งข้อสงสัย เหตุใดรายใหญ่ขายชิ้นส่วนหมูถูกเท่าราคาหมูเป็น หลายปัจจัยส่งผลให้ผู้เลี้ยงรายย่อยล้มหายตายจากจากอาชีพ
นายเดือนเด่น ยิ้มแย้ม ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ดีใจที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหา “หมูเถื่อน” สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปราบปรามให้เด็ดขาด โดยซัพพลายส่วนเกินจาก “หมูเถื่อน” ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงรายย่อยอย่างรุนแรง ทำให้ที่ผ่านมาถูกกดราคาขายหมูหน้าฟาร์มจนต่ำกว่าต้นทุน กลายเป็นปัญหา “หมูถูก” ที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีเร่งแก้ไขให้ด้วย
นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงรายย่อยยังได้รับความเดือดร้อนจากการกระจายตัวและขยายตัวอย่างรวดเร็วของกลุ่มผู้ผลิตสุกรรายใหญ่ครบวงจรที่นำมาตรการด้านราคาต่ำมาใช้ ทำให้ทั้งผู้เลี้ยง ผู้ค้า และโรงเชือดต่างๆ ไม่สามารถแข่งขันได้ จึงได้นำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้พิจารณาว่า เข้าข่ายเป็นการค้าเอาเปรียบหรือไม่ พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดกลุ่มผู้เลี้ยงรายใหญ่จึงสามารถตั้งราคาจำหน่ายชิ้นส่วนหมูถูกเท่ากับราคาหมูหน้าฟาร์มได้ โดยส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยได้รับความเดือดร้อน และผลกระทบทางกลไกการตลาด
พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างความเสียหายของการเลี้ยงสุกรทั้งระบบ จากปัญหาการขายหมูหน้าฟาร์มต่ำกว่าทุนในไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2566 ดังนี้
• ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ต้นทุนการเลี้ยงสุกรชนิดซื้อลูก อยู่ที่ประมาณ 96 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรขายได้ที่ประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม หรือขาดทุน 3,600 บาทต่อตัว ทั้งระบบ 50,000 บาทตัวต่อ หรือขาดทุนวันละ 150 ล้านบาท หรือ 4,500 ล้านบาทต่อเดือน
• ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ต้นทุนการเลี้ยงสุกรชนิดซื้อลูก อยู่ที่ประมาณ 80 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรขายได้ที่ประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม หรือขาดทุน 2,000 บาทต่อตัว ทั้งระบบ 50,000 บาทตัวต่อ หรือขาดทุนวันละ 100 ล้านบาท หรือ 3,000 ล้านบาทต่อเดือน
นายเดือนเด่น กล่าวว่า ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยขอให้ภาครัฐแก้ปัญหาวิกฤติหมู ซึ่งมีต้นตอจาก “หมูเถื่อน” อย่างเร่งด่วน โดยขอให้ระงับการปล่อยสินค้าหมูแช่แข็งจากห้องเย็น หรือปิดห้องเย็นเป็นระยะเวลา 90 วัน หลังจากนั้นค่อยๆ ทยอยออก เริ่มจาก 5-10% และดูปริมาณซัพพลายในตลาดประกอบ เพื่อให้หมูในตลาดไม่ขาดแคลน โดยระยะเวลา 90 วันของการปิดห้องเย็น ขอให้กรมปศุสัตว์และกรมการค้าภายใน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจเพื่อกวาดล้างกระบวนการนำเข้าสุกรที่ไม่ได้รับอนุญาตให้หมดสิ้นไป
นอกจากนี้ยังขอให้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาเรื่องราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการผลิตหมูสูง รวมถึงให้ช่วยเร่งฟื้นฟูอาชีพของผู้เลี้ยงรายย่อยที่ต้องหยุดเลี้ยงไปเนื่องจากขาดทุน ด้วยการขอให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ก่อนที่จะล้มหายตายจากจากอาชีพเลี้ยงหมูกันหมด จนเหลือแต่รายใหญ่
นายอานัน ไตรเดชาพงศ์ เจ้าของลุงเท่งฟาร์ม จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ผู้เลี้ยงหมูขาดทุนต่อเนื่องมานาน จึงขอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหมูเถื่อน พร้อมกับที่ให้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 25 (1)(2)(4) กำหนดราคาซื้อหน้าฟาร์มไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตทั่วราชอาณาจักร การใช้กฎหมายแก้วิกฤติหมู โดยให้กำหนดราคาหน้าฟาร์มตามโครงสร้างต้นทุน เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 แต่ล่วงเลยมาจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ
นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) กล่าวว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการปราบปรามหมูเถื่อน โดยสั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการจริงจัง จึงเป็นความหวังของเกษตรกร
นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษ และออกหมายจับผู้กระทำความผิดบางรายแล้ว หากตามเส้นทางทางการเงิน เชื่อว่าจะสาวไปถึงผู้มีอิทธิพลซึ่งอยู่เบื้องหลังขบวนการลักลอบนำเข้าและค้าหมูเถื่อน เพื่อจับกุมและใช้กฎหมายยึดทรัพย์
สำหรับขั้นตอนต่อไปที่ผู้เลี้ยงต้องการให้แก้ไขปัญหา คือ เรื่องเสถียรภาพราคา และแก้ไขปัญหาการขาดทุนของเกษตรกร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เร็วที่สุด
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ แจ้งว่า ได้ขอให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสุกร เสนอต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่านคณะกรรมการร่วมเพื่อป้องกันและปราบปราม ตรวจสอบ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินคดีเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าประเภทสุกร เนื้อสุกร หรือชิ้นส่วนสุกร ที่ผิดกฎหมาย ที่ตั้งโดยนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพื่อให้เร่งแก้ปัญหาความยืดเยื้อของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีอำนาจโดยตรงของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ แม้จะมีการเรียกร้องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นมา แต่กรมการค้าภายในยังไม่ดำเนินการ
พร้อมกันนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยังย้ำต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสุกรว่า การฟื้นฟูต้องเริ่มจากหยุดการขาดทุนเป็นอันดับแรก ให้ดำเนินการตามมติ Pig Board เมื่อมีการอ้างผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกรณีประกาศใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในที่ประชุม 9 พฤศจิกายน 2566 ทำให้ผู้แทนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ขอให้นำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี โดยจะขอให้สั่งการให้กรมการค้าภายในเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่มาหารือร่วมกัน เพื่อร่วมประชุมแก้ปัญหาวิกฤติสุกร ประกอบด้วย
- ตัวแทนเกษตรกรทั้ง 6 ภูมิภาค
- ผู้ประกอบการค้าสุกรหน้าฟาร์มที่กรมปศุสัตว์ได้รายงานไว้ก่อนหน้านี้ว่ามีการขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 80 ราย
- ห้างค้าส่ง ค้าปลีก ที่จำหน่ายเนื้อสุกร
- สมาคมตลาดสด และตลาดสดชั้นนำต่างๆ
- สมาคมธนาคารไทย โดยสมาคมธนาคารไทยมอบหมายให้ธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมเป็นคณะทำงานรักษาเสถียรภาพราคา ซึ่งรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามแต่งตั้ง
นอกจากนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยังเห็นว่า การขอให้ธนาคารของรัฐเข้ามาช่วยปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงว่า การปล่อยสินเชื่อในขณะที่ราคาสุกรยังไม่มีเสถียรภาพ เท่ากับเป็นการซ้ำเติมให้เกิดปัญหาหนี้เสียขึ้นมาอีก ซึ่งเชื่อว่า ธนาคารของรัฐอาจจะไม่ให้สินเชื่อ เนื่องจากสถานการณ์ราคาสุกรยังไม่ดีขึ้น.-สำนักข่าวไทย