กรุงเทพฯ 19 ต.ค. – “หมอเดว” ให้ความเห็นกรณีเด็ก ม.6 ผูกคอเสียชีวิต หลังถูกหลอกผ่อนไอโฟน ห่วงครอบครัว-โรงเรียนไทยยังหย่อนการสื่อสารกับเด็ก แนะพูดให้น้อย-ฟังให้มาก สร้างความไว้วางใจและภูมิคุ้มกันก่อนเกิดเหตุสลด ชี้ปัญหาค่านิยมการใช้ของฟุ่มเฟือย ต้องเริ่มแก้จากผู้ปกครอง
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวถึงกรณีนักเรียนชั้น ม.6 ตัดสินใจจบชีวิตจากปัญหาถูกมิจฉาชีพหลอกผ่อนโทรศัพท์ไอโฟนว่า ผู้ปกครองจะมีบทบาทมากที่สุด ไม่ใช่เฉพาะเมื่อเกิดเหตุวิกฤต แต่การสื่อสารกันภายในบ้านตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุคือสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่เท่านั้น แต่รวมถึงผู้ใหญ่คนอื่นที่จะช่วยพูดคุยรับฟังปัญหาได้ สร้างความไว้วางใจให้กับเด็ก โดยยกกรณีที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นตัวอย่าง ก็จะช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันและลดการเกิดเหตุสลดได้ รวมถึงการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสถานะของครอบครัวก็จะช่วยให้เด็กเข้าใจในเหตุผลและความพร้อมของผู้ปกครองได้มากขึ้น
“ตอนนี้มีข่าวต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย หยิบยกกรณีสั้นๆ แล้วลองมารับฟังกัน คือผู้ใหญ่พูดให้น้อยลง ฟังให้มากขึ้น และการฟังที่ดีก็คือฟังโดยใช้คำถามปลายเปิด เห็นแล้วรู้สึกยังไง ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นลูกจะแก้ปัญหาอย่างไร การทำให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกิดกระบวนการที่รับฟังกันอย่างเข้าใจ เวลาที่เขาเจอเหตุการณ์จริง เขาก็จะหวนกลับมาปรึกษา แม้คุณพ่อคุณแม่ไม่ว่างหรือไม่พร้อมเราก็สามารถสื่อสารได้เลยว่าตอนนี้แม่กำลังยุ่งอยู่ แม่รักลูกเป็นห่วงลูกนะ ยินดีรับฟัง แต่ขอเวลานิดเดียว สัญญาณในลักษณะนี้ลูกจะสัมผัสได้ทันที”
“ฝากสำหรับเพื่อน ๆ ของเด็ก และผู้ใหญ่ใจดีที่อาจจะเป็นคนที่พร้อมเป็นผู้ฟังที่ดี 3 สัญญาณที่อย่านิ่งนอนใจ คือ 1.ข้อความที่ประเมินได้ว่ามีความเสี่ยงต่อชีวิตเขา 2.ข้อความที่เสี่ยงและอันตรายต่อชีวิตผู้อื่น และ 3.ข้อความที่ส่งมาด้วยอารมณ์รุนแรง ถ้าปล่อยไว้อาจจะเกิดอำนาจทำลายล้าง ถ้าเข้าข่ายใน 3 อย่างนี้ ภายใน 24 ชม. จะต้องหาวิธีเข้าถึงตัวเขาเพื่อหยุดยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงและหายนะขึ้น”
“หมอเดว” ยังฝากถึงการศึกษาในโรงเรียนด้วยว่า ควรเพิ่มวิชาชีวิต ปรับปรุงรูปแบบการสอน เช่น การทำกิจกรรมกลุ่ม สร้างเหตุการณ์สมมติภายในห้องเรียน เพื่อให้รู้เท่าทันกลลวง ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ระบบการศึกษาต้องทันกับสถานการณ์ในสังคม เพื่อให้เด็กที่จะจบการศึกษาพร้อมที่จะรับมือกับการล่อลวงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย
ในส่วนของเนื้อความในจดหมายที่เขียนไว้ก่อนจบชีวิตนั้น คิดว่าเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าหรือไม่ รศ.นพ.สุริยเดว ให้ความเห็นว่า สำหรับเด็กวัยรุ่นในด้านของวุฒิภาวะ เมื่อมีอารมณ์รุนแรง บวกกับการไม่รู้จะปรึกษาใคร อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการตัดสินใจดังกล่าวขึ้น โดยเฉพาะในวัยรุ่นตอนกลางที่มีฮอร์โมนกระตุ้นในส่วนของอารมณ์มากกว่าวัยอื่น ถ้าไม่ได้ฝึกการจัดการอารมณ์หรือความเครียดที่ดีพอ ก็จะเกิดการตัดสินใจที่นำไปสู่เหตุสลดได้
นอกจากนี้ยังฝากถึงกรณีการใช้โซเชียลมีเดีย หรือการสร้างค่านิยมในการใช้สิ่งของต่าง ๆ ด้วยว่า หลายบ้านที่มีการใช้เงินเลี้ยงลูกมากจนเกินไป หรือส่งเสริมวัตถุนิยมให้กับลูก ก็อาจทำให้เด็กเกิดการกดดันกันเองในหมู่เพื่อนได้ ผู้ปกครองควรให้ความรักและใช้จิตวิญญาณความเป็นพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกให้มากขึ้น ลดการใช้ของฟุ่มเฟือย พร้อมทั้งแนะนำวิธีการพูดคุยกับเด็ก หากผู้ปกครองมีข้อจำกัดด้านเวลาที่อาจจำเป็นต้องทำงาน ไม่ได้เลี้ยงลูกเอง ควรเน้นการตั้งคำถามเชิงบวกและแสดงความห่วงใย ไม่ควรใช้คำถามในเชิงจับผิด จะช่วยให้เด็กเปิดใจที่จะพูดถึงปัญหาได้ง่ายขึ้น
สำหรับมุมมองต่อผู้กระทำผิด มองว่าถือเป็นการกระทำที่ถือว่าเลว ไร้จิตสำนึก ควรใช้กฎหมายที่จริงจัง เข้มข้นเข้ามาจัดการ ซึ่งปัจจุบันเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นบ่อย ดีที่สุดคือผู้ใหญ่ต้องช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกก่อนที่จะเกิดเหตุขึ้น ไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้นอย่าเพิ่งตกใจ ให้เขาคืนกลับมาในอ้อมอกพ่อแม่ก่อน เชื่อว่าถ้าทำได้มันจะไม่เกิดความสูญเสียขึ้น. -สำนักข่าวไทย