กรุงเทพฯ 4 ต.ค.-KKP ประเมินแจกเงินและมาตรการกระตุ้นใช้งบ 3.6% ของ GDP แต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 1% อาจได้ไม่คุ้มเสีย ด้าน Jitta เสนอเก็บภาษีลงทุนต่างประเทศควรนำส่วนขาดทุนมาหักออกได้และเก็บตามขั้นบันได ส่วน เอเซีย พลัสมองไตรมาส 4 ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสลุ้นกลับทิศเป็นขาขึ้น
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ถึงการที่รัฐบาลกำลังจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หลายนโยบาย ว่า นโยบายแบบแจกเงินแบบเหวี่ยงแหที่มีต้นทุนสูงมีความเหมาะสมหรือไม่ท่ามกลางข้อจำกัดด้านการคลังและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ , การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมีความคุ้มค่าเพียงใด มีประสิทธิมากน้อยเพียงใดภายใต้ข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง และ ผลได้ผลเสียของนโยบายในระยะยาวเป็นอย่างไร เพราะการใช้ทรัพยากรทางการคลังที่เน้นผลระยะสั้นและมีต้นทุนสูงเช่นนี้ จะสร้างข้อจำกัด ความเสี่ยงทางการคลังและเศรษฐกิจ อีกทั้งอาจสร้างผลกระทบในทางลบ เช่น การบั่นทอนวินัยทางการเงินและการต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐ และผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพของอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาทได้ นอกจากนี้ ด้วยข้อจำกัดและความเสี่ยงทางการคลังที่จะมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ทรัพยากรมีเหลืออยู่น้อยลงในการจัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญกว่าต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
KKP Research รวบรวมผลการศึกษาจากทั้งไทยและต่างประเทศ พบว่าผลที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ หรือเรียกว่า Fiscal Multiplier ในการแจกเงินเป็นการทั่วไป มีขนาดต่ำกว่า 1x หมายความว่า แม้ว่าการแจกเงินเป็นการทั่วไปอาจทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย แต่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าต้นทุนต่อรัฐจากเงินที่แจกออกไป ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย คือ1) การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของคนส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายเพื่อทดแทนสินค้าเดิมที่มีการใช้จ่ายอยู่แล้ว 2) การใช้จ่ายบางส่วนมีสัดส่วนของการนำเข้าค่อนข้างสูง (Import Leakage) และ 3) อาจมีการนำอุปสงค์ในอนาคตมาใช้ ทำให้มีการปรับลดการใช้จ่ายเมื่อโครงการจบลง นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่จะเข้าร่วมและใช้จ่ายเงินทั้งหมด
KKP Research ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดที่รัฐบาลใหม่กำลังจะดำเนินการจะช่วยกระตุ้น GDP เพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 1% จากต้นทุนด้านงบประมาณที่ต้องใช้สูงถึงกว่า 3.6% ของ GDP หรือคิดเป็น 18% ของวงเงินงบประมาณเดิม การขาดดุลการคลังต่อปีที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐและต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจทำให้หนี้สาธารณะแตะกรอบบนที่ 70% ได้เร็วขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ประเมินภาพรวมการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 4 ปี 66 มีโอกาสลุ้นกลับทิศเป็นขาขึ้น แม้มีความเสี่ยงการเกิด Recession ในสหรัฐฯ แต่ด้วยสถานการณ์เงินเฟ้อที่ทยอยดีขึ้นตามลำดับ ทำให้วัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ( FED )ใกล้จบ ในขณะที่ในส่วนของประเทศไทยทั้งทิศทางเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อนับตั้งแต่ครึ่งหลังปี 66 จากภาคการท่องเที่ยวที่เข้าสู่ช่วง High Season และแรงกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายของภาครัฐฯ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.)ประเมิน GDP Growthไทยปี66 และปี67 เติบโต 2.8% และ 4.4% ตามลำดับ โดยฝ่ายวิจัยฯประเมินกรอบเป้าหมายดัชนีไว้ที่ 1,400/1,550 จุด
โดยช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดหุ้นไทยมีความน่าลงทุนมากขึ้น หลังปัจจัยต่างประเทศเริ่มผ่อนคลายลง ทั้งทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นจากแรงในช่วง 3 ปี 66(ตลาดตอบรับไประดับหนึ่งแล้ว) รัฐบาลใหม่เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ บวกความคาดหวังการแจกเงิน Digital 10,000 บาทในระยะถัดไป ในมุม Fund Flow หลังจากที่ต่างชาติขายสุทธิตราสารหนี้ไทย 1.6แสนล้านบาท และหุ้นไทยอีก 1.4 แสนล้านบาท ในปีนี้ จนเหลือสัดส่วนการถือครองทางตรงหุ้นไทยต่ำเพียง 23.9%
“หวังว่าจะเห็นการสลับเข้ามาซื้อสะสมสุทธิหุ้นไทยมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีโดยสถิติไตรมาสที่ 4 มักจะเป็นฤดูกาลที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสะสมหุ้นไทยอยู่แล้ว สะท้อนได้จากใน 3 ปีที่ผ่านมา ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในไตรมาสนี้ทุกปีโดยซื้อสุทธิเฉลี่ย 3.1 หมื่นล้านบาท” นายเทิดศักดิ์ กล่าว
นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ นักลงทุนในหุ้นต่างประเทศ และผู้ก่อตั้ง Jitta (จิตตะ) เปิดเผยถึงการจัดเก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศว่า จากการหารือหายภาคส่วน ทุกฝ่ายอยากเห็นความชัดเจนและเป็นธรรมในการจัดเก็บ โดยให้เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งหากเป็นไปได้ให้ยกเว้นการเก็บภาษีจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศ เช่นเดียวกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่มีการยกเว้น Capital Gain Tax และในหลายประเทศที่มีการยกเว้นภาษีส่วนนี้เช่นเดียวกัน หรือหากจัดเก็บ ให้คำนวณรายได้จากกำไรสุทธิหลังหักขาดทุนหรือ Net Capital Gain และให้ การแยกออกมาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยกำหนดให้มีอัตราภาษีโดยเฉพาะ
โดยเสนอว่า หากมีการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนในต่างประเทศอยากให้ภาครัฐ พิจารณาจัดเก็บในอัตราภาษีดังนี้ กำไรจากเงินลงทุนสุทธิแล้ว ไม่ถึง 1 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี ตั้งแต่ 1-20 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 10% และหากมากกว่า 20 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 20% โดยสามารถนำขาดทุนมาหักออกได้ตามจำนวนที่ขาดทุน และใช้ในปีต่อๆ ไปได้จนกว่าจะหมด หรือครบ 5 ปี
ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนชนชั้นกลางเป็นฐานใหญ่ของประเทศ ให้มีการลงทุน เพื่อลดภาระด้านงบประมาณสำหรับรัฐบาลในอนาคต .–สำนักข่าวไทย