กรุงเทพฯ 3 เม.ย. – KKP Research ปรับประมาณการณ์ตัวเลขจีดีพีลงลึกถึงติดลบ 6.8% จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะภาคธุรกิจ พร้อมคาดว่าไทยจะมีคนตกงานเพิ่มกว่า 5 ล้านคน
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีลงอีกครั้งจากติดลบ 2.4% เป็นติดลบถึง 6.8% จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม และมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้หดตัวลึกและยาวนานยิ่งขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้
KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงกว่าที่คาดไว้ จากตัวเลขผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายประเทศมีการประกาศมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ล่าสุดทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of America ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศหลักลง โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะติดลบถึง 6% สหภาพยุโรปติดลบที่ 7.6% และเศรษฐกิจจีนคาดจะขยายตัวได้เพียง 1.2% ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะหดตัวถึง 2.7% จากการประมาณการครั้งก่อนที่คาดขยายตัว 0.3% ซึ่งจะเป็นการหดตัวที่รุนแรงยิ่งกว่าในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2552
ขณะที่มาตรการของไทยที่เข้มงวดขึ้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ ทั้งมาตรการปิดเมืองและ social distancing และล่าสุดการใช้มาตรการเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศ รวมทั้งการปิดประเทศและปิดเมืองในเหลายจังหวัด ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและภายในประเทศได้รับผลกระทบหนักขึ้น นอกจากนี้ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ภาคการค้า และภาคการขนส่ง ซึ่งมีการจ้างงานรวมถึง 10.1 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ และในจำนวนนี้เป็นการจ้างงานนอกระบบถึง 5.6 ล้านคน หรือ 55% จะส่งผลให้แรงงานจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้างหรือถูกขอให้หยุดงานชั่วคราว นอกจากนี้ ภาคธุรกิจอื่น ๆ เช่น ภาคการผลิต ภาคการก่อสร้าง และบริการอื่น ๆ ก็จะได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลงด้วยเช่นกัน คาดว่าอาจมีการว่างงานสูงถึง 5 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 13% ในช่วงกลางปีนี้ ก่อนที่สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
โดย KKP Research มองว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการเร่งด่วนใน 3 ด้าน คือ ทบทวนและจัดสรรงบประมาณอย่างเร่งด่วนให้กับงานด้านสาธารณสุข และจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมและมีคุณภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ , ออกมาตรการทางการคลังระยะสั้นเพื่อเยียวยาและลดภาระของผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรองรับแรงงานในระยะต่อไป , และเตรียมมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในระบบการเงิน เช่น มาตรการรองรับการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน มาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการผลักดันสภาพคล่องในระบบการเงินช่วยเหลือธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ .- สำนักข่าวไทย