ศธ. 4 ต.ค.- ศธ.ตรวจสอบศูนย์การเรียนที่เด็กผู้ก่อเหตุศึกษาเป็นหนึ่งรูปแบบของการศึกษาทางเลือก พร้อมถอดบทเรียนหาสาเหตุ แรงจูงใจ ไม่ให้เกิดขึ้นอีก
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ แถลงผลการหารือกรณีเยาวชนใช้อาวุธก่อเหตุความรุนแรงที่ห้างสยามพารากอนวานนี้ โดยกล่าวว่า ทาง รมว.ศึกษาธิการ และผู้บริหารทุก ๆ คน ได้ขอร่วมแสดงความเสียใจกับทางครอบครัวของผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการได้ตรวจสอบ สถานศึกษาที่เด็กผู้ก่อเหตุศึกษาอยู่ พบว่าที่มีการจัดการเรียนการสอนตามอัธยาศัย โดยเป็นศูนย์การเรียน เป็นรูปหนึ่งของการศึกษาทางเลือก ภายใต้การกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ
จากข้อมูลพบว่าศูนย์การเรียนแห่งนี้มีความพร้อม มีนักเรียนประมาณ 800 คน ครู 115 คน อัตราครูต่อนักเรียน 1 ต่อ 7 ส่วนค่าเทอมก็หลักแสนบาทขึ้นไป โดยมีการแบ่งหลักสูตรเน้นวิทยาศาสตร์ และหลักสูตรที่เน้นภาษาอังกฤษ ซึ่งจากรายงานทราบว่าน้องเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตร์ โดยการกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะมีการกำกับหลักสูตรว่าไปตามแกนกลางหรือไม่ แต่เนื้อหารูปแบบขึ้นกับผู้สอนกับผู้เรียนว่าจะเรียนแบบไหน โดยผู้สอนและผู้เรียนจะร่วมกันวางแผนการเรียนที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนแบบรายบุคคล โดยพบว่าทั้งประเทศมีโรงเรียนลักษณะนี้อยู่กว่า 2,000 แห่ง เฉพาะใน กทม.ที่เปิดเป็นระดับมัธยมศึกษา 10 แห่ง
ตั้งแต่ทราบเรื่อง ระดับ ผอ.เขตการศึกษาได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและสอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับศูนย์การเรียน ทราบว่าเด็กรายนี้เพิ่งมาศึกษาที่นี่ได้ประมาณ 2 ปี ก่อนหน้านี้เด็กก็เรียนที่ รร.เอกชนหลักสูตรปกติ ส่วนการสอบถาม ทราบว่าเด็กมีอาการทางจิต แต่ยังไม่สามารถฟันธงได้ จากการฟังข้อมูลจากทางฝั่ง รร.ฝั่งเดียว โดยขณะนี้ยังไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่า สาเหตุแรงจูงใจที่ก่อเหตุจากอะไร ส่วนหนึ่งจะมีเรื่องของการติดเกมหรือไม่ แต่สิ่งที่สังคมจะเรียนรู้ร่วมกัน คือทั้งโรงเรียน ผู้ปกครอง ต้องมีส่วนร่วม ให้คำแนะนำ สนใจว่าสิ่งที่ลูกหลานกำลังเล่น หรือดูอยู่ เป็นสื่อที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งรวมไปถึง ภาพยนตร์ เกม คลิปต่าง ๆ ที่หาชมได้ทางโลกออนไลน์
จากกรณีนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการจะร่วมถอดบทเรียนไปดูในรายละเอียดเนื้อหา เช่น ตัวหลักสูตรแกนกลาง ที่ใช้ในการกำกับดูแลโรงเรียนทางเลือก ครอบคลุม มีความเพียงพอหรือไม่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งไม่ได้เฉพาะกับ รร.ทางเลือก แต่มีโอกาสเกิดได้ทุกระบบการศึกษา
โดยทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบาย ปรับหลักสูตร เน้นให้นักเรียน เรียนดี และมีความสุข เด็กได้รับการแนะนำให้ค้นพบเป้าหมาย ชีวิตของตัวเอง โดยที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการมีความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตในการเข้ามาให้ความรู้ ซึ่งตามปกติหากเด็กมีประวัติรับการรักษา โรงเรียนก็ต้องทราบ เพื่อให้มีแนวทางที่เหมาะสมในการดูแล ซึ่งประเด็นเรื่องของความเครียดของทั้งเด็กและบุคลากรการศึกษา ก็จะต้องมีแนวทางในการแก้ปัญหาต่อไป
โฆษก ศธ.ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.การศึกษา ปี 2542 อาจจะต้องมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการผลักดัน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เขียนกฎหมายให้ครอบคลุม และเหมาะสมในการพัฒนา การศึกษา จึงควรต้องเร่งที่ควรจะต้องมีการผลักดันให้เกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย