กรุงเทพฯ 2 ต.ค. – อดีตผู้บริหาร, อดีตสหภาพแรงงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายวัชระ เพชรทองอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ผู้แทน กลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. และภาคประชาชน เคลื่อนไหว ร่วมแถลงข่าวที่หน้า กฟผ. และทำหนังสือถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน โดยขอให้แต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 และการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง
อดีตผู้บริหาร ,อดีตสหภาพแรงงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ นายวัชระ เพชรทองอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ผู้แทน กลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. และภาคประชาชน ร่วมแถลงว่าในส่วนของการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ.ขอให้พิจารณาเสนอต่อ ครม.ใหม่ ให้นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการฯ ดำรงตำแหน่งเพราะมีการสรรหามาอย่างถูกต้องเหมาะสม แต่ล่าช้าเพราะอยู่ในช่วงเลือกตั้ง หากจะมีการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ใหม่อีกรอบ ก็จะไม่เป็นธรรมและส่งผลเสียหายต่อผู้ถูกคัดเลือกและเป็นข้อสงสัยต่อสังคมอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล ประกอบกับการจะเปลี่ยนแปลงให้มีการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ใหม่นั้น จะส่งผลต่อคำครหานินทาจากสังคมได้ว่ามีใบสั่งจากทุนใหญ่ มากดดันรัฐบาลตามกระแสนข่าวลือ
“หากมีการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ.ใหม่ และไม่ใช่ นายเทพรัตน์ แน่นอน สังคมต่างทราบอย่างกว้างขวางจากสื่อต่าง ๆ อยู่แล้วว่าใครจะได้รับการคัดเลือก ย่อมจะไม่สง่างามและเป็นผลดีต่อการบริหารงานใน กฟผ.อย่างแน่นอน จะทำให้เกิดความไม่พอใจและมีความขัดแย้งอันยาวนานใน กฟผ. และอาจจะไม่เป็นผลดีต่อการสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารงานตามนโยบายต่าง ๆ ให้กับทางกระทรวงพลังงานหรือรัฐมนตรีอย่างต็มที่ก็เป็นได้” แถลงการณ์ ระบุ
ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้าแพงนั้นในความเป็นจริงต้นกำเนิดเกิดมาจากในอดีตภาครัฐและกระทรวงพลังงานเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทและกำหนดนโยบายในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ามากเกินไปโดยขาดการสร้างความสมสมดุลย์ด้านความต้องการ (Demand ) และกำลังผลิต (Supply) จะเห็นจากปัจจุบัน Supply มีมากกว่า Demand เกินครึ่งหนึ่ง ซ้ำ และยังกำหนดให้ กฟผ. ทำสัญญาจ่ายค่าความพร้อมและอื่น ๆ ตลอดจนปล่อยปละละเลยกำหนดนโยบายให้ใช้พลังงานหมุนเวียนมากเกินไป โดยอ้างปัญหาโลกร้อนและไปลงนามสัญญาร่วมกับประเทศต่างๆ โดยไม่ดูข้อจำกัดต่าง ๆภายในประเทศ จนเป็นเหตุให้เกิดข้อครหารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนพลังงานจากสื่อต่าง ๆ ที่ออกมา และจากนโยบายที่รัฐบาลประกาศลดค่าไฟฟ้าตามข่าวที่ออกมาเป็นเรื่องที่ดี แต่เป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ ปัญหาจะไม่สามารถถูกแก้ได้อย่างยั่งยืนแน่นอน
ดังนั้นการแก้ปัญหาค่าไฟแพงนั้นควรแก้ไขที่ต้นเหตุ คือ แก้ไขสัญญาที่รัฐบาลเสียเปรียบกับเอกชนใหม่ เช่นค่าความพร้อมจ่าย เป็นต้น แก้ไขสัญญาให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนสำหรับรายใหม่ สร้างความสมดุลย์ Demand และ Supply อย่างสมเหตุสมผล เปิดเสรีการนำเข้าเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อให้เกิดการแข่งขันจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง กำหนดให้ภาคเอกชนสามารถขอใช้ท่อก๊าซฯ จาก บมจ.ปตท. ได้โดยไม่มีเงื่อนไข โดยการ
สนับสนุนจากรัฐบาล ควรให้ กฟผ. เป็นองค์กรหลักในการนำเสนอและจัดทำแผน พัฒนกำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว( PDP) เพื่อนำเสนอรัฐบาลได้อย่างถูกต้อง. -สำนักข่าวไทย