รัฐสภา 29 ก.ย.-อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้โทษตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิตรุนแรงเกินไป แนะแก้รธน.ม.234-235
คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน จัดเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นหัวข้อ “บ้านเมืองไม่สงบ เมื่อไม่เคารพกฎหมาย” โดยมีการพูดคุยกันถึงต้นตอของปัญหาที่ทำให้บ้านเมืองไม่สงบในยุคดิจิทัล
ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล ยกต้นตอปัญหา ได้หยิบยกกรณีกระแสต่อต้านนักร้องเรียนซึ่งอาจเกินเลยไป และขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง
จึงเสนอให้ออกแบบกฎหมายป้องกัน รวมถึงเสนอให้มีต้นแบบการปฏิบัติกฎหมายและการเคารพกฎหมาย เริ่มจากเจ้าหน้าที่ ผู้บังคับใช้กฎหมาย ครูทางกฎหมาย ผู้นำประเทศ และผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องเป็นต้นแบบการเคารพกฎหมาย พร้อมยกปม “นิติสงคราม” คนที่นำไปใช้มองว่าถูกกฎหมายกลั่นแกล้ง และนำไปลดทอนความน่าเชื่อถือของกฎหมาย จึงตั้งข้อทวงติงว่าสภาพการดำเนินกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่อย่านำไปกดขี่ข่มแหงกลั่นแกล้งคนที่ไม่ได้ทำผิด
“นิติสงคราม สู้กันในกระบวนการยุติธรรมกระบวนการกฎหมาย มีบรรทัดฐานมีคนกลาง มีเกณฑ์มาตรฐานที่พอใช้ได้ ถ้าตรงไหนบกพร่อง ก็แก้ไขกระบวนการ ทางยุติธรรม นี่คือสันติวิธี ที่ถูกคิดค้นมาแต่โบราณ ถ้าไม่มีนิติสงครามก็จะเป็นสงครามกลางเมือง ระหว่างครอบครัว หมู่บ้าน ชนชั้น ขณะเดียวกันต้องระวังผู้ที่รู้กฎหมายมากกว่า มีโอกาสมากกว่าเอากฎหมายไปใช้เล่นงานคนที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคม ทำให้สหประชาชาติต้องทำให้มีกฎหมายดูแลปกป้องการดำเนินคดีโดยไม่สุจริตต่อผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้บ้านเมือง แต่ยังไม่มีในประเทศไทย ” ศ.จรัญกล่าว
ศ.จรัญ ยังกล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายแบบไหนที่เกินพอดี ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 234 และ 235 จะต้องได้รับการพิจารณาแก้ไขปรับปรุง เรื่องการตัดสิทธิตลอดชีวิต คือความไม่พอเหมาะพอควร ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยพิจารณาในกรณีหนึ่งที่ว่าตัดสิทธิตลอดไปทำได้หรือไม่ ซึ่งการอภิปรายนั้นได้พิจารณากฎหมายไทยร่วมและเห็นว่าโทษสูงสุดคือ 10 ปี ดังนั้นจึงมีข้อสรุปว่าตัดสิทธิ 10 ปี แต่ยังถูกมองว่าตัดสินเกินกฎหมาย เป็นการเติมความ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้แจงไม่ใช่แก้ตัว เพราะเห็นโดยสุจริตใจว่าหากตัดสิทธิตลอดชีวิตถือว่าเกินไป
“สำหรับกรณีการทุจริต ที่เป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ เห็นว่าควรถูกสิทธิ 20 ปี แต่ผมมองว่ามากไป โดนสักก10ปีกำลังดี ซึ่งกรณีดังกล่าวต่างจากสิทธิเลือกตั้ง ที่ให้เป็นเป็นดุลยพินิจ และศาลจะตัดหรือไม่ตัดก็ได้ แต่ไม่เกิน 10 ปี ขณะที่การตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กรณีฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ต้องตัด แต่ไม่ให้เกิน 10 ปี คือ ความพอเหมาะพอควรไหม” นายจรัญ กล่าว.-สำนักข่าวไทย