ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 28 ก.ย. – อาคาร SAT-1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดให้บริการ แบบ Soft Opening วันแรกเรียบร้อยดีไร้ปัญหา มั่นใจรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นถึง 60 ล้านคนต่อปี
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่า วันแรกของการเปิดให้บริการอาคาร SAT-1 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขณะนี้มี 2 สายการบินประเดิมใช้บริการ คือ ไทยแอร์เชียเอ็กซ์ และไทยเวียดเจ็ท เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งในเดือน พ.ย. จะมีการพิจารณา เพิ่มเที่ยวบินที่มาใช้บริการ
อาคาร SAT-1 อยู่ห่างจากอาคารโดยสารหลัก หรือ Main Terminal ประมาณ 1 กิโลเมตร มีรถไฟฟ้า APM ให้บริการระหว่างทั้ง 2 อาคารจำนวน 6 ขบวน ให้บริการทุก 5 นาที
เพื่อรองรับการเติบโตพร้อมกับการก้าวสู่ปีที่ 18 สนามบินสุวรรณภูมิ ได้มีแผนงานทั้งในส่วนของการขยายพื้นที่ให้บริการ ลงทุนใหม่ในโครงสร้างพื้นฐานหลักของท่าอากาศยาน ตลอดจนเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง นอกจากการเปิดให้บริการอาคาร SAT-1 แล้วยังได้นำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในการจัดการกับกระเป๋าสัมภาระ Check-in โดยติดตั้งระบบ Individual Carrier System (ICS) ซึ่งเป็นระบบขนส่งสัมภาระความเร็วสูงเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก กับอาคาร SAT-1 มีจุดเด่นสามารถติดตามกระเป๋าสัมภาระที่มีความแม่นยำสูง ลดปัญหากระเป๋าสัมภาระเสียหายในขั้นตอนการลำเลียงขึ้นอากาศยานได้
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาเพิ่มศักยภาพการรองรับเที่ยวบินได้มากขึ้นในระยะต่อไป คือโครงการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 3 ซึ่งตามแผนงานมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2567 และสนับสนุนให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากปัจจุบันที่มีรันเวย์ 2 เส้น สามารถรองรับได้ 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมีแผนนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความสะดวกรวดเร็วของผู้ใช้บริการ โดยในเดือน ธ.ค. นี้ จะนำระบบไบโอเมททริกซ์ หรือ ระบบยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าเข้ามาใช้โดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต และตั๋วเครื่องบินเพื่อยืนยันตัวตน
นายกีรติ ระบุว่าวันพรุ่งนี้ (29 ก.ย.) นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไป จ.ภูเก็ต ทอท. ได้เตรียมเสนอโครงการพัฒนาขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 จากเดิมรองรับได้ 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่จะใช้งบประมาณประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและลดปัญหาการแออัดภายในสนามบิน รวมถึงจะเสนอการโอนย้ายท่าอากาศยานกระบี่จากกรมท่าอากาศยาน ซึ่งจะสามารถทำให้การประสานงาน และการใช้ห้วงอากาศ ทั้ง 2 สนามบิน มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ จะเสนอการพัฒนาท่าอาอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่ จ.พังงา หรือ สนามบินอันดามัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ต่างประเทศเป็น 22 ล้านคนต่อปี .-สำนักข่าวไทย