17 ก.ย.-สมาคมนักข่าวฯ จัดเสวนา “ปฏิรูปตำรวจ” ยกปมร้อนคดี “กำนันนก” สะท้อนรัฐซ้อนรัฐ องค์กรตำรวจล้มเหลว ซื้อขายเก้าอี้-รับส่วย-แสวงอำนาจ พร้อมแนะรีบจัดการหวั่นเป็นชนวนกลียุค
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนา “ปฏิรูปตำรวจ” กู้วิกฤติศรัทธาหรือดิ่งเหว? โดยนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ตำรวจเป็นองค์กรแห่งอำนาจชี้เป็นชี้ตายได้ เพราะมีอำนาจตั้งแต่จับกุม ควบคุมตัว ทำให้คนสิ้นอิสรภาพ หรือคนได้รับอิสรภาพได้ รวมถึงยังมีระบบอุปถัมภ์ในองค์กรที่สืบทอดกันมานาน ทำให้มีการพูดถึงการซื้อขายตำแหน่ง การมีส่วย หรือมีการครอบงำโดยกระบวนการภายนอก ซึ่งเป็นผลประโยชน์มากมายมหาศาล ไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่มีการค้ำชูซึ่งกันและกันในระบบอุปถัมภ์
ขณะที่อำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างที่รวมศูนย์อยู่ที่ อบต. อบจ. ทำให้คดีที่เกี่ยวกับฮั้วจับตรงไหนก็เจอทั้งหมด จึงไม่ใช่เรื่องกำนันนก เท่านั้นที่รวยมหาศาล แต่คนอื่นก็นั่งเงียบๆ จึงไม่เกิดเรื่อง แต่เป็นกระบวนการที่รู้กันและกระซิบบอกกันว่า ใครสายใคร เพื่อมีส่วนช่วยให้อยู่รอดปลอดภัยในการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะฉะนั้นระบบของประเทศไทยที่เป็น “รัฐซ้อนรัฐ” มีทั้งเป็นไปตามกฎหมาย และระบบใต้ดิน ซึ่งระบบนี้ก็มีอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม เหตุใดจึงเกิดคดีเหล่านี้เป็นประจำไม่ว่าจะเป็นคดีบอส คดีผู้กำกับคลุมหัวผู้ต้องหา หรือคดีกำนันนก จะเป็นตัวอย่างที่แรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่โลกนี้เปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน แต่ทำไมยังอยู่ภายใต้อำนาจองค์กรใต้ดินเหล่านี้อยู่ ดังนั้น หากให้มีอำนาจรัฐซ้อนรัฐแล้วไม่กำจัดออกไป ในที่สุดแล้วจะเกิดกลียุค
ส่วนการปฏิรูปองค์กรตำรวจนั้น ต้องปรับลดองค์กรให้เล็กลง ยกตัวอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ ตำรวจนครบาลและตำรวจภูธร แยกส่วนกัน ตำรวจนครบาลดูแลพื้นที่เมืองหลวง ส่วนต่างจังหวัดให้ตำรวจภูธรดูแล เพราะมีความเข้าใจในพื้นที่มากกว่า ส่วนตำแหน่งนายพลตำรวจนั้น นายวิชา กล่าวว่า องค์กรตำรวจเป็นรูปแบบเดียวกับกองทัพ จึงต้องนำรูปแบบตำรวจประชาชนมาใช้ ไม่ใช่รูปแบบองค์กรอำนาจที่ใช้ยุทโธปกรณ์หรือการมีชั้นยศ ทำให้การทำงานของตำรวจที่ต้องแก้ไขปัญหาให้ประชาชนก็ถูกพรากออกไปด้วย
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ระบุคดีกำนันนกเป็นการสะท้อนปัญหาคอร์รัปชันที่หมักหมมในราชการไทย เป็นคดีที่สังคมไทยต้องจับตา ดังนั้น ผู้มีหน้าที่แก้ไขปัญหาต้องเร่งเข้ามาจัดการ สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะตำรวจบางนายยอมก้มหัวให้พ่อค้าและผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งปลายทางคดีนี้ต้องจับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดและลงโทษตามกฎหมายให้ได้ รวมถึงเอาผิดต้นตอการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น การฮั้วประมูล ถ้าจะปฏิรูปตำรวจ ตำรวจต้องไม่ตบทรัพย์ ต้องไม่ขอค่าดำเนินคดีกับประชาชน ต้องไม่ให้ประชาชนไปขอหลักฐานจากกล้องวงจรปิดเอง หรือเรื่องตั๋วช้าง จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร ก็ขอ ผบ.ตร.คนใหม่ ทำให้ประชาชนจดจำแบบไหนเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย