กรุงเทพฯ 14 ก.ย. – ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดี “บอส อยู่วิทยา” สาวไปถึง “สมยศ-เนตร” มีความผิดจริง ส่วน “เพิ่มพูน-ธานี” โทษไม่ร้ายแรง ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัย และส่งเรื่องให้ต้นสังกัดดำเนินการทางวินัย
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา ชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาในคดีกลับคำสั่งไม่ฟ้อง “บอส” นายวรยุทธ อยู่วิทยา ในข้อหาขับรถยนต์ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ นายดาบตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 เนื่องจากมีขบวนการช่วยเหลือในการเปลี่ยนพยานหลักฐานด้านความเร็วของรถ
คดีดังกล่าวนี้ยังเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจจากประชาชนและสังคมเป็นวงกว้างมาโดยตลอดระยะเวลา 11 ปีเต็ม ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 15 ราย มีตั้งแต่อดีตข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว เจ้าหน้าที่ข้าราชการตำรวจที่ยังรับราชการอยู่ พนักงานสอบสวนคดี พนักงานอัยการ และนักการเมือง โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญา และได้รับการยืนยันชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว ได้แก่
1.พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเป็นอดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
2.นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด 3.นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส 4.นายพิชัย (ชูชัย) เลิศพงศ์อดิศร หรือ สว.ก๊อง ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ 5.นายสายประสิทธิ เกิดนิยม และยังมีพนักงานสอบสวนอีกบางส่วน
สำหรับนายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภา และอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการ การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลปัจจุบัน
ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนดำเนินการทางวินัย เนื่องจากเรื่องที่มีการกล่าวหามิใช่เป็นความผิดร้ายแรง แต่อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับรองรายงานการประชุมทั้งหมดก่อน สำนักงาน ป.ป.ช. จึงจะแถลงข่าวกับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก.-สำนักข่าวไทย