กรุงเทพฯ 6 ก.ย.- สนพ.เตือนแนวโน้มราคาพลังงาน ขยับขึ้นตามตลาดโลกในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ส่วนยอดการใช้อาจขยับขึ้นอีก ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ส่งสัญาณพัฒนาระบบสำรองไฟฟ้ารองรับพีคเกิดกลางคืนแต่พลังงานทดแทนผลิตช่วงกลางวันเพิ่มขึ้น
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2023/09/06/1234058/1693992655_176067-tnamcot-1024x768.jpeg)
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตือนผู้บริโภครับมือราคาพลังงานในไตรมาส4 /66 และไตรมาส 1/67า ราคาจะขยับขึ้นตามฤดูกาลหน้าหนาวของยุโรปที่มีการใช้น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่นมากขึ้น ในขณะที่ กลุ่มโอเปกพลัสโดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียปรับลดกำลังผลิต โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงนี้ราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นสูงสุดในรอบ 1 ปี ส่วนการที่รัฐบาลมีแผนจะลดราคาน้ำมัน ลดค่าไฟฟ้า ทาง สนพ.ได้เตรียมข้อมูลเพื่อพร้อมดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ซึ่งการที่รัฐบาลมีแผนส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ฟรีวีซ่าให้ชาวจีน ก็คาดว่าจะมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น และอาจทำให้จีดีพีโตมากกว่าที่สภาพัฒน์ฯ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของไทยลงมาอยู่ที่โตร้อยละ 2.5-3.0 จากเดิมร้อยละ 3.0-4.0 ดังนั้น การใช้พลังงานของประเทศก็คาดว่าจะโตขึ้นจากเดิมที่คาดว่าการใช้พลังงานขั้นต้นของปีนี้จะโตร้อยละ 2.1 โดย สนพ. ยังคงติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมทั้งราคาพลังงานอย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติพลังงานในอนาคตต่อไป
โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันครึ่งปีหลังน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 87 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เบนซินเฉลี่ย 69-105 เหรียญ/บาร์เรล และดีเซล 91-98 เหรียญ/บาร์เรล และราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) เอทานอลในช่วงไตรมาส 4 ภาพรวมคาดว่าจะสูงขึ้น ยกเว้นในส่วนของไบโอดีเซล(B100)ที่มีทิศทางลดลง
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2023/09/06/1234058/1693992674_666766-tnamcot-724x1024.jpeg)
สำหรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2566 คาดว่าอยู่ที่ 77.0 – 87.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล คาดความต้องการพลังงานขั้นต้นของปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2,033 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ2.1 การใช้น้ำมัน คาด 836 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 การใช้ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 813 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ จะอยู่ที่ระดับ 322 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงร้อยละ 5.4 และคาดความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ระดับ 201,913 ล้านหน่วย(GWh) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4
ทั้งนี้ สถานการณ์พลังงานครึ่งปีแรกของปี 2566 พบว่า ภาพรวมการใช้พลังงานขั้นต้นมีปริมาณการใช้ อยู่ที่ระดับ2,059 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 และการใช้ก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 7.0 สอดคล้องกับความต้องการไฟฟ้าในสาขาท่องเที่ยวและบริการที่เพิ่มขึ้นหลังเกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า ลดลงร้อยละ 10.7 จากปริมาณการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำที่ลดลงเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้น้ำเหนือเขื่อนของ สปป.ลาว มีปริมาณลดลง ส่วนการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ปรับตัวลดลงจากการใช้ที่ลดลงทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม โดยการใช้ถ่านหินลดลงร้อยละ 7.4 และการใช้ลิกไนต์ลดลงร้อยละ 6.3
สถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 พบว่าการน้ำมันสำเร็จรูป มีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ142.6 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 น้ำมันดีเซล 72.3 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากครึ่งปีแรกของปีก่อน ร้อยละ3.7(ลดจากปีที่แล้วมีการใช้ดีเซลผลิตไฟฟ้าทดแทนแอลเอ็นจีนำเข้าที่มีราคาสูง) การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอลอยู่ที่ 31.5 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.2 การใช้น้ำมันเครื่องบิน อยู่ที่ 13.7 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.2 การใช้น้ำมันเตา อยู่ที่ 6.1 ล้านลิตรต่อวัน ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2023/09/06/1234058/1693992706_626740-tnamcot-1024x768.jpeg)
การใช้ LPG มีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 3,264 พันตัน ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.5 แยกเป็นปิโตรเคมี ร้อยละ 43 มีการใช้ลดลงร้อยละ 4.1 ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 11 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ภาคครัวเรือน มีสัดส่วนร้อยละ 31 มีการใช้ลดลงร้อยละ 1.7 การใช้ในรถยนต์ ร้อยละ 14 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่ให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นมา
ก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 4,435 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 โดยมาจากการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการใช้NGVเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 จากการที่ภาครัฐยังคงมาตรการคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไปอยู่ที่ 17.59 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2565 ถึง 15 มิถุนายน 2566 ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 4.0 และ 6.1 ตามลำดับ ซึ่งมาจากความต้องการสินค้าและบริการของโลกที่ลดลง โดยสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เฉลี่ยของครึ่งปีแรกที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ถ่านหิน/ลิกไนต์ มีการใช้รวมทั้งสิ้นอยู่ที่ระดับ 7,820 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE) ลดลงร้อยละ 7.2 สำหรับการใช้ลิกไนต์ อยู่ที่ 1,629 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE) ลดลงร้อยละ 6.3
การใช้ไฟฟ้า อยู่ที่ 101,043 ล้านหน่วย (GWh) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 การใช้ภาคอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 3.8 จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกหดตัว การใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ4.8 และสาขาอื่น ๆ (องค์กรไม่แสวงหากำไร สูบน้ำเพื่อการเกษตร ไฟฟ้าชั่วคราว และไฟฟ้าสาธารณะ) เพิ่มขึ้นร้อยละ10.5 ทั้งนี้ ในปี 2566 มีความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด(พีก)ของระบบ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา21.41 น. อยู่ที่ระดับ 34,827 MW เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 พีคที่เกิดขึ้นช่วงกลางคืน แต่การผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นช่วงกลางวัน เพราะการเข้ามาของพลังงานทดแทนเช่น โซลาร์ ลม ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องมาพิจารณาในเรื่องของการส่งเสริมพลังงานที่ควบคู่ไปกับระบบสำรองไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้าตามเขื่อนแบบสูบกลับเช่นลำตะคองเป็นเรื่องจำเป็นต้องพัฒนาไปยังเขื่อนอื่นๆต่อไป.-สำนักข่าวไทย