นนทบุรี 25 ส.ค.-ปลัดพาณิชย์ เผยส่งออกของไทย เดือน ก.ค.66 ยังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดลบที่ 6.2% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซา แต่ถือว่าดีกว่าหลายประเทศ รับเวลาที่เหลืออีก 5 เดือนถือว่าหนัก แต่จะพยายามทำให้เต็มที เพื่อเป้าหมายส่งออกโต 1-2%
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 มีมูลค่าการส่งออกกว่า 22,143.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวที่ 6.2% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 เป็นการหดตัวในทุกกลุ่มสินค้า ทั้งสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังไม่ฟื้นตัวเพราะถูกแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การผลิตและการบริโภคตึงตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ประกอบกับฐานการส่งออกในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ ขณะที่ การนำเข้าช่วงเดือนกรกฎาคม ติดลบร้อยละ 11.1 คิดเป็นมูลค่า 24,121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกของปี ติดลบร้อยละ 4.7 คิดเป็นมูลค่า 171,598.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลทำให้ดุลการค้าในช่วงเดือนกรกฎาคมขาดดุล 1,977.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในช่วง 7 เดือนแรกของปีการค้ายังคงขาดดุลอยู่ที่ 8,28.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และ ความต้องการอาหารทั่วโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรหลายรายการขยายตัวได้ดี เช่น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผักแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไข่ไก่ และน้ำตาลทราย
อย่างไรก็ตาม ส่งผลให้ภาพรวมในช่วง 7 เดือนแรก 2566 ( ม.ค.-ก.ค.66 ) การส่งออกไทยมีมูลค่า 163,313.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังคงติดลบที่ 5.5% แต่ยังถือว่าดีกว่าหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ อินเดีย และอินโดนีเซียยังคงติดลบมากกว่าไทยทั้งสิ้น
นอกจากนี้ แม้ว่าช่วงเวลาที่เหลือของปี 66 จะทำงานร่วมกันใกล้ชิดของภาครัฐและเอกชน ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ และสถานการณ์ยังดีกว่าหลายประเทศ แต่ด้วยปัจจัยในด้านลบของตลาดโลกที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและภาคเอกชนจะทำงานอย่างเต็มที แม้ว่าจะมีความลำบากอยู่พอสมควร โดยดาดว่าหากจะให้ตัวเลขส่งออกทั้งปีเป็นไปตามเป้าหมาย จะต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนจะอยู่ที่ 24,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้อัตราการส่งออกขยายตัวได้ 0 % แต่หากจะให้ขายยตามได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้การส่งออกเฉลี่ยแต่ละเดือนจะอยู่ที่ 25,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นต้น
ทั้งนี้ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) ได้ประเมินภาพรวมการส่งออกไปยังตลาดสำคัญยังมีความไม่แน่นอน โดยยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก อย่างไรก็ดี แม้ว่าการส่งออกไปตลาดหลัก อาทิ จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และยุโรปจะหดตัว แต่การส่งออกไปตลาดรองส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก หดตัว9.6 %โดยกลับมาหดตัวในตลาดจีนและญี่ปุ่น 3.2 %และ 1.7 %ตามลำดับ
หดตัวต่อเนื่องในตลาดอาเซียน (5) CLMV 18.3 % และสหภาพยุโรป (27) 26.5 % ตามลำดับ ขณะที่ตลาด สหรัฐฯกลับมาขยายตัว 0.9 %(2) ตลาดรอง ขยายตัว 0.8 %โดยขยายตัวเกือบทุกตลาด ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย2.4% ตะวันออกกลาง 8.2 %แอฟริกา 3.1 %ลาตินอเมริกา 14.8 %รัสเซียและกลุ่ม CIS 39.2 %และสหราชอาณาจักร 5.8 %ขณะที่ตลาดเอเชียใต้ ยังคงหดตัวต่อเนื่อง 5.6 %(3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัว 66.8 %อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว64.9%
ตลาดสหรัฐฯ กลับมาขยายตัว 0.9 %สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว 3.0 %
ตลาดจีน กลับมาหดตัว 3.2 %สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบและเม็ดพลาสติก เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว 3.7 %
ตลาดญี่ปุ่น กลับมาหดตัว 1.7 %สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว 1.3%
ตลาดอาเซียน (5) หดตัว 18.3 %(หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อากาศยานและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว และเหล็กเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว 9.1%
ตลาด CLMV หดตัว 26.5 %(หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง น้ำตาลทราย และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว 15.2 %
ตลาดสหภาพยุโรป (27) หดตัว 6.6 %(หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และยางพารา เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี2566 หดตัว 3.0 %
ตลาดเอเชียใต้ หดตัว 5.6 %(หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว 14.1 %
ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัว 2.4 %(ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี2566 หดตัว 2.4 %
ตลาดตะวันออกกลาง กลับมาขยายตัว 8.2 %สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัว 5.4 %
ตลาดแอฟริกา กลับมาขยายตัว 3.1 %สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายใน และข้าว เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว 0.1 %
ตลาดลาตินอเมริกา กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน 14.8 % สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายใน และยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี2566 หดตัว 1.5 %
ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัว 39.2 %(ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ และรองเท้าและชิ้นส่วน เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัว41.3%
ตลาดสหราชอาณาจักร ขยายตัว 5.8 %(ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อากาศยานและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และไก่แปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัว 10.4 %
การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ และแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไปการส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกเพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออก โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ (1) กิจกรรมการนำคณะผู้แทนการค้าเยือนภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยมีผู้แทนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง และอาหารแปรรูป เดินทางไปเยือนประเทศอาร์เจนตินา ชิลี และบราซิล เพื่อขยายตลาดส่งออกตามกลยุทธ์ในการบุกเจาะตลาดเป็นรายภูมิภาค และรายคลัสเตอร์ (2) การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมีการตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ของเอลนิโญ และประเมินผลกระทบทั่วโลกที่จะกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของไทย โดยเฉพาะกรณีที่อินเดียประกาศมาตรการห้ามส่งออกข้าวขาว เพื่อประเมินสถานการณ์และสร้างความมั่นใจว่า อาหารไทยเพียงพอบริโภคในประเทศและเหลือเพียงพอสำหรับการส่งออก (3) คณะผู้แทนของกระทรวงพาณิชย์เดือนทางเยือนลาว โดยได้เข้าพบผู้บริหารโครงการท่าบก ท่านาแล้ง หารือการเชื่อมโยงใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟ พร้อมทั้งผลักดันการใช้สิทธิ FTA เพื่อการส่งออก รวมทั้งหารือกับภาคเอกชนไทยถึงโอกาสการขยายการค้า โดยเฉพาะผลไม้ไทยและธุรกิจกาแฟที่ลาว ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกใหญ่เป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว การผลิตและการบริโภคชะลอลง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และความผันผวนของค่าเงิน แต่คาดว่าฐานที่ต่ำในช่วงปลายปี ภาคบริการของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว และอานิสงส์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน ทำให้คู่ค้าหันมานำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางตัวจากไทยทดแทนตลาดจีนมากขึ้น ขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าในหมวดอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็น มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยหลายประเทศเพิ่มการนำเข้าเพื่อรักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร และการขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในเส้นทางใหม่ผ่าน รถไฟไทย-ลาว-จีน จะช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ได้อีกทางหนึ่งด้วย.-สำนักข่าวไทย