กรุงเทพฯ 15 ส.ค.-ปตท.สผ.ส่งสัญญาณ รัฐบาล ใหม่เตรียมตัวรับความเสี่ยงปริมาณการผลิตก๊าซฯ ป้อนไทยหด อาจซ้ำรอยแหล่งเอราวัณ ขอให้เร่งเจรจาแหล่งไพลินและแหล่งยาดานา ที่จะสิ้นสุดสัมปทานในปี2571 ด้านกรมเชื้อเพลิงฯเผย คุยกับเอกชน รอ “เชฟรอน” สหรัฐไฟเขียว
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน )หรือ ปตท.สผ.เปิดเผยว่า กังวลเรื่องปริมาณก๊าซธรรมชาติของไทย ในปี 2571 อาจจะต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี เพิ่มขึ้น เนื่องจาก สัญญาสัมปทานแหล่งไพลินในอ่าวไทย และ แหล่งยาดานา จากเมียนมาจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2571
ทั้งนี้ ในส่วนของแหล่งไพลิน สามารถต่อายุสัญญาสัมปทานได้อีก 10 ปี โดยแหล่งฯนี้ ปตท.สผ.ร่วมถือหุ้นในสัดส่วนราว 60% โดยมี บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ(Operator) ขณะนี้ทางเชฟรอนฯ อยู่ระหว่างเจรจากับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อขยายอายุสัมปทานออกไปอีก 10 ปีถึงปี 2581 แต่ยังติดปัญหาเงื่อนไขการวางหลักประกันการรื้อถอนฯ หากล่าช้า เชฟรอนฯหยุดการลงทุนขุดเจาะปิโตรเลียมเพิ่มเติม เช่นเดียวกับแหล่งเอราวัณ ซึ่งหากไม่มีความชัดเจนในช่วงไตรมาส1/2567 ส่งผลให้กำลังการผลิตก๊าซฯในแหล่งไพลินค่อยๆทยอยลดลงไป จากปัจจุบันมีกำลังผลิตราว 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และหากจะกลับมาเร่งผลิตก๊าซฯเพิ่มก็จะต้องใช้เวลา2ปี เพื่อเจาะหลุมวางแท่นเชื่อมท่อเพิ่ม นับเป็นเหตุการณ์ซ้ำรอยแหล่งเอราวัณ ที่ปตท.สผ.ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ก่อนสิ้นสุดสัมปทาน ทำให้การผลิตก๊าซฯลดลง เนื่องจากOperator เดิม ไม่ลงทุนเจาะหลุมผลิตเพิ่ม ส่งผลต้องนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงมาป้อนโรงไฟฟ้า
“ปตท.สผ.ได้แจ้งไปว่า พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อให้แหล่งไพลิน สามารถรักษาการผลิตก๊าซฯได้ต่อเนื่อง โดยวันนี้กำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย มีรวมกันอยู่ที่ราว 2,400-2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หากไพลินหายไป 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็เทียบเท่าแหล่งอาทิตย์หายไป 1 แหล่ง” นายมนตรีกล่าว
ส่วนแหล่งยาดานา สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี 2571 แต่เป็นแหล่งปิโตรเลียมที่ศักยภาพสามารถต่ออายุสัญญาสัมปทานออกไปได้อีก โดยแหล่งนี้มีผู้ลงทุนที่สำคัญคือ เชฟรอน ถือหุ้นราว 41% ฉะนั้นหากไม่มีความชัดเจนในการต่อสัมปทานฯ ก็อาจหยุดการลงทุนลงได้ ปัจจุบันแหล่งนี้ มีกำลังการผลิตก๊าซฯ อยู่ที่กว่า 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งเข้าไทยกว่า 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่งเข้าเมียนมากว่า 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
“ปี 2571 ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยมีความเสี่ยงจากแหล่งไพลิน และแหล่งยาดานาที่จะสิ้นสุดสัมปทานลง ปัญหานี้จะเป็นความเสี่ยงด้านพลังงานของประเทศ หากต้องหันไปพึ่งพาการนำเข้า LNG ที่มีความผันผวน” นายมนตรี กล่าว
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมฯได้มีการหารือกับทางเชฟรอนฯ เกี่ยวกับกรณีการต่อสัญญาสัมปทานแหล่งไพลินมาโดยตลอด ซึ่งทางเชฟรอนฯยินดีปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่รอการอนุมัติจากทางสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐฯก่อน อย่างไรก็ตามระบบไทยแลนด์ 1 ถือเป็นกฎหมายที่ให้ความยุติธรรมกับนักลงทุน อย่างมากในโลก โดยกรมฯ ขอให้เชฟรอนฯ ประเมินแผนดำเนินการ ทั้งแผนที่จะทำต่อ และแผนรื้อถอน ซึ่งทางเชฟรอนฯยังรายงานไม่ครบตามที่กรมฯกำหนดไว้ อย่างไรก็ตามในหลายแหล่งจากผู้ดำเนินการายอื่นๆ ก็ได้มีการเจราจาตกลงต่ออายุสัมปทาน ตามสิทธิ์อีก 10 ปี โดยเจรจาจบไปแล้ว 5 แปลง เช่น แหล่ง น้ำพอง,แหล่งสิริกิติ์ แหล่งภูฮ่อม. –สำนักข่าวไทย