กรุงเทพฯ 26 มิ.ย.-กรมโรงงานสั่งปิดโรงงานซีพีเอฟเฉพาะบ่อบำบัดน้ำเสีย 30 วัน เพื่อแก้ไขปัญหา หลังเกิดเหตุคนตกลงไปเสียชีวิต
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากกรณีเหตุการณ์วันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา นักศึกษาคณะสัตว์แพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าเยี่ยมชมโรงงานฆ่าสัตว์ และชำแหละสัตว์ปีก บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่ถนนบางนา-ตราด 20 เขตบางนา กรุงเทพมหานคร แต่พลัดตกบ่อระบบบำบัดน้ำเสีย และมีผู้เข้าไปช่วยเหลือแต่สุดท้าย การเข้าไปช่วยเหลือโดยไม่มีความรู้ และเกิดอาการตกใจ จึงกระโดดลงไปช่วยแล้ว ขาดอากาศหายใจ ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 5 ราย ได้แก่ นางสาวปัณฐิกา ดาสุวรรณ นิสิตคณะสัตว์แพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมโรงงาน 1 ราย นางสาวลักษณ์ชนก แสนทวีสุข อายุ 24 ปี นายชาตรี สีสันดร อายุ 53 ปี คนงานรายวัน นายพรศักดิ์ บุญพาล อายุ 40 ปี หัวหน้างานอนามัย นายชาญชัย พันธุ์นาคิน อายุ 42 ปี หัวหน้าหน่วยงานซ่อมบำรุง โดยมีผู้ประสบเหตุรอดชีวิต คือ นายประเสริฐ ศรศิริ อายุ 37ปี หัวหน้างานซ่อมบำรุง
โดยบริเวณที่เกิดเหตุเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียที่แยกไขมันออกแล้ว ก่อนส่งเข้าสู่ระบบบำบัดแบบตะกอนเร่ง มีขนาด 3 คูณ 4 เมตร ลึก 2.5 เมตร เป็นบ่ออับอากาศ โรงงานนี้มีปริมาณน้ำเสียจากกระบวนการผลิต 5,500 ลูกบาศก์เมตร/วัน หลังจากเกิดเหตุกรมโรงงานเข้าไปตรวจสอบ ก่อนสั่งการด้วยวาจาและหนังสือ โดยเป็นออกคำสั่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติโรงงานพศ 2535 สั่งปิดโรงงานเฉพาะส่วนระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อปรับปรุงแก้ไขบริเวณที่ทำงานให้ปลอดภัยและมีความถูกต้องทางวิศวกรรมเป็นเวลา 30 วัน ในส่วนของการป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุขึ้นในอนาคตอีกนั้นก็จะให้มีการดำเนินการมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ในโรงงานประเภทและลักษณะเดียวกันนี้ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะได้หารือกับสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยเพื่อกำหนดมาตรฐานที่เป็นปัจจุบันและทันกับสถานการณ์ในปัจจุบันต่อไป
สำหรับเหตุที่เกิดขึ้นมีเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของโรงงานพาเยี่ยมชมโรงงาน โดยเพิ่งเข้ามาทำงานได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น การจะเข้าพื้นที่บ่อบำบัดน้ำเสีย โดยไม่มีประสบการณ์เผชิญเหตุ และพื้นที่บ่อบำบัดน้ำเสีย โดยปกติแล้วเป็นพื้นที่ที่ทางโรงงานไม่ต้องการให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไป ในเบื้องต้นเท่าที่ทราบการเข้าไปชมโรงงานในส่วนดังกล่าวเป็นการขออนุญาตโดยส่วนตัวกับบุคคลภายใน ซึ่งยังไม่ได้ทราบว่าโรงงานมีข้อมูลอย่างไรในจุดนั้น
และในจุดเกิดเหตุบ่อบำบัดน้ำเสียนี้ เป็นจุดที่เดินผ่านได้ ฝาบ่อเป็นจุดที่เดินผ่านได้ ไม่ทราบว่า ปิด หรือเปิดอยู่ เพราะในช่วงที่เจ้าหน้าที่กรมโรงงานเข้าไปตรวจสอบจุดเกิดเหตุ พบว่าฝาบ่อบำบัดน้ำเสียดังกล่าวตกลงไปในบ่อแล้ว อย่างไรก็ตาม การเปิดฝาปิดบ่อบำบัดนี้ น้ำหนัก 30กิโลกรัม มีหูจับ 2 ด้าน การจะเปิดต้องใช้คนช่วยกัน แต่ถ้ายกฝากมีน้ำหนักก็ต้องให้มากกว่า 2 คนยกฝาขึ้น แต่ถ้าหากโรงงานเปิดฝาเพื่อซ่อมบำรุงก็สามารถดำเนินการได้ ถ้าเปิดทิ้งไว้ ไม่ควรกระทำ แต่เมื่อดำเนินการซ่อมเสร็จแล้ว ควรจะปิดฝากบ่อบำบัดน้ำเสียให้มิดชิด เพราะเมื่อเปิดฝาขึ้นมา ก็น่าจะเกิดพลาดได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ จึงไม่ทราบว่าขณะเกิดเหตุฝาบ่อบำบัดน้ำเสียเปิดอยู่หรือไม่ เป็นหน้าที่ของตำรวจจะสืบสวนต่อไป แต่การปฎิบัติงานในสถานที่ไม่ปลอดภัยและมีคนเสียชีวิตจึงให้ปิดโรงงานเฉพาะส่วนเพื่อปรับปรุง
นายประเสริฐ ตปนียางกูร นายกสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมประเทศไทย กล่าวว่า จากสภาพการณ์ดูแล้ว บ่อบำบัดน้ำเสีย เป็นพื้นที่ที่ไม่สะดวกนักที่จะเข้าไปบำรุงรักษา สำคัญที่สุดและขอย้ำคือ สถานที่เหล่านี้ไม่ใช่ให้ใครเข้าไปก็ได้ เป็นสถานที่หวงห้าม บุคคลที่จะเข้าไปต้องมีหน้าที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ช่างบำรุงรักษาบำบัด และจะต้องมีบุคคลที่คอยช่วยเหลือและต้องมีผู้ที่รู้เรื่องที่จะคอยดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในการช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครทราบได้ว่าเกิดอะไรจริงในขณะนั้น แต่หลักการคือ สถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่อับอากาศ ซึ่งอันตราย สถานที่นี้ เหล่านี้ ห้ามบุคคลภายนอกเข้าโดยไม่มีหน้าที่ เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องรับรู้อยู่แล้วและคงต้องให้ทางกองพิสูจน์หลักฐานเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพเป็นผู้วินิจฉัยให้เป็นข้อสรุปว่าการเสียชีวิตเพราะเหตุใด ส่วนเหตุการณ์ฝาบ่อบำบัดจะเปิดหรือไม่ คนที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมดก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงไม่อาจวิเคราะห์ได้เลยว่าฝาเปิดหรือปิดอยู่ ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานต่อไป.-สำนักข่าวไทย