กทม. 26 ก.ค.-ตำรวจยืนยัน มิจฉาชีพไม่สามารถสวมซิมเพื่อดูดเงินจากบัญชีธนาคารผ่านมือถือได้ ย้ำผู้ประกอบการมีมาตราการรวบคุมอย่างเข้มงวด
พ.ต.อ.ก้องกฤษฎา กิตติถิระพงษ์ รองผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยถึงกรณีที่มีการส่งต่อข้อความผ่านทางโซเชียลมีเดียว่า มีมิจฉาชีพใช้วิธีการสวมรอยหรือลักลอบใช้ซิมโทรศัพท์ที่เรียกว่า sim swap fraud ที่คนร้ายจะใช้วิธีตัดสัญญาณโทรศัพท์ชั่วคราว ก่อนทำทีเป็นเจ้าหน้าที่ติดต่อมาว่า เครือข่ายสัญญาณมือถือมีปัญหา ต้องกดหมายเลขเพื่อเชื่อมต่อเครือข่าย แต่ระหว่างนั้นคนร้ายได้ควบคุมโทรศัพท์และโอนเงินออกจากบัญชีไปแล้ว โดยที่เจ้าของไม่ได้รับการแจ้งเตือนเนื่องจากถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือจนก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในประชาชนนั้น ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากปัจจุบันผู้ให้บริการและหน่วยงาน กสทช.ได้มีมาตราการป้องกันการสวมสิทธิ์ซิมโทรศัพท์ รวมถึงในทางเทคนิคก็ยังเป็นไปไม่ได้ และปัจจุบันก็ยังไม่มีการรับแจ้งความในเรื่องนี้ และปัจจุบันได้มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ควบคุมซิมผีบัญชีม้าที่มีอัตราโทษสูงขึ้น กำหนดให้ทุกซิมต้องยืนยันตัวตนก่อนนำมาใช้ มิฉะนั้นจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา โดยโทษสำหรับผู้ที่ใช้ซิมผี คือจำคุกไม่เกิน 3 ปี จำคุกไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านนายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล กรรมการบริหารและประชาสัมพันธ์ สมาคมโทรคมนาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการแล้วว่าในทางปฏิบัตินั้นยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งการใช้นาโนซิม หรือไมรโครซิม ในปัจจุบันมีระบบการป้องกันหลายชั้น และการเปิดใช้บริการซิมต้องมีการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านศูนย์เท่านั้น กรณีที่ใช้บริการ multi sim หรือหนึ่งเบอร์ใช้หลายซิมนั้น ก็สามารถใช้โทรเข้าออกได้เพียงซิมแรก ส่วนชิ้นอื่นที่ใช้เบอร์เดียวกันสามารถใช้ได้แค่อินเตอร์เน็ตเท่านั้น หรือสามารถใช้ได้ทีละซิมและต้องขอเข้ารหัสเท่านั้น และผู้แทนจำหน่ายซิมทุกรายต้องลงทะเบียนซิมอย่างถูกต้องตามกฏหมายของ กสทช.ที่บังคับใช้แล้วเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา จึงยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่มิจฉาชีพจะนำวิธีการสวมซิมดังกล่าวไปใช้.-สำนักข่าวไทย