กรุงเทพฯ 25 ก.ค.-อดีตตศร.ระบุศาลรธน.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยกระบวนการเลือกนายกฯ เป็นเรื่องของประธานรัฐสภาที่ตัดสินใจตามข้อบังคับ แยกงานตุลาการ-นิติบัญญัติชัด สงสัยผู้ตรวจฯ มีอำนาจอะไรส่งให้ศาลฯ โยนเผือกร้อนเพราะกลัวทัวร์ลง
นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตรองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ(ตศร.) ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวไทย” กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกระบวนการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมาชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนว่า หากยังเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ศาลฯ รับไว้พิจารณาแต่อาจจะไม่วินิจฉัย โดยอาจจะตีตกไป เพราะไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องของรัฐสภา ที่จะต้องพิจารณาว่าจะลงมติกันอย่างไร ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาจะวินิจฉัยไปตามกฎข้อบังคับของรัฐสภา
“จะเอาอำนาจของฝ่ายตุลาการไปแทรกแซงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้ หากแทรกแซงจะทำให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้คือการวินิจฉัยเกี่ยวกับร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่สภาฯ พิจารณามาแล้วว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่กรณีนี้เป็นกฎข้อบังคับของรัฐสภา จะทำอย่างไรถือเป็นอำนาจของรัฐสภา อยู่ที่ว่ารัฐสภาจะเห็นอย่างไร คำว่าญัตติคือการขอความเห็น ซึ่งต้องดูในความหมายกว้าง เรื่องนี้เป็นไปตามการแยกอำนาจระหว่างอำนาจตุลาการและอำนาจนิติบัญญัติที่แยกกันชัดเจน แม้ว่าอำนาจของตุลาการจะผูกพันทุกองค์กร แต่ไม่ใช่กรณีนี้ ซึ่งกรณีนี้ไม่สามารถใช้อำนาจตุลาการมาครอบคลุมได้” นายสุพจน์ กล่าว
อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งข้อสังเกตว่า ในขั้นต้นผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังสงสัยว่ามีหน้าที่ และมีอำนาจในการส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นลักษณะคล้ายบุรุษไปรษณีย์ที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิ หน้าที่ของเอกชน ของบุคคล แต่กรณีนี้เป็นเรื่องขององค์กร ซึ่งไม่เข้าข่าย ซึ่งการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เสมือนการโยน “เผือกร้อน” โดยไม่ต้องรับผิดชอบ และป้องกันปัญหา “ทัวร์ลง”.-สำนักข่าวไทย