กรุงเทพฯ 25 ก.ค.- “แยม ฐปนีย์” ให้ปากคำตำรวจปมเสนอข่าวหุ้นไอทีวี ย้ำเนื้อหาคลิปเป็นไปตามรายงานข่าว ได้ตรวจสอบแหล่งที่มาก่อนแล้ว ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง เพียงทำตามหน้าที่สื่อ
ที่ สน.ทุ่งสองห้อง นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย หรือแยม พร้อมนายจตุรงค์ สุขเอียด อดีตคนข่าวไอทีวี นำหลักฐานคลิปวิดีโอเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ตามหมายเรียกในฐานะพยาน กรณีรายงานข่าวเปิดเผยคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ซึ่งไม่ตรงกับเอกสารรายงานการประชุม
นางสาวฐปณีย์ เปิดเผยว่า วันนี้เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกที่ทนายรัชพล ศิริสาคร เคยแจ้งความเอาผิดประธานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีและนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในข้อหาแจ้งความเท็จและปลอมแปลงเอกสาร พร้อมนำคลิปที่รายการข่าวสามมิตินำเสนอเรื่องการประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าวว่าไม่ตรงกับเอกสารรายงานการประชุม พนักงานสอบสวนจึงออกหมายเรียกผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวดังกล่าวมาให้การ คาดว่าสอบถามเกี่ยวกับประเด็นการรายงานข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับคลิปรายงานการประชุม ซึ่งเป็นคลิปที่ได้บันทึกจากแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลมา มีความยาวเพียง 3 นาที จากการประชุมทั้งหมดที่ใช้เวลาร่วมหลายชั่วโมง ส่วนข้อมูลที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องที่จะสืบค้นและหาข้อมูลมาตรวจสอบเพิ่มเติม
นางสาวฐปณีย์ ย้ำว่าคลิปดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นไปตามที่ได้รายงานข่าวไว้ ซึ่งได้ตรวจสอบแหล่งที่มาก่อนแล้วก่อนนำเสนอข่าว และต้องรักษาความปลอดภัยของแหล่งข่าวที่นำข้อมูลมาให้ พร้อมยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง เพียงแต่ทำตามหน้าที่ของสื่อ ส่วนตัวก็มีความฝันว่าหากไอทีวีจะกลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง ก็อยากให้กลับมาอย่างที่เคยเป็นและเคยทำงาน ไม่อยากให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ขณะนี้ยังไม่มีอะไรมากระทบกับตัวเอง แต่มั่นใจว่าอะไรที่นำเสนอด้วยความรอบคอบถูกต้อง หากจะเกิดอะไรขึ้นก็พร้อมที่จะได้รับการตรวจสอบกลับเช่นกัน
ด้านนายจตุรงค์ ระบุว่า เป็นอดีตประธานสหภาพแรงงานไอทีวี มีส่วนกับการได้เสียของไอทีวีโดยตรง เมื่อทราบข่าวจึงต้องการทราบถึงข้อเท็จจริง โดยนางสาวฐปณีย์ ได้ค้นหาที่ตั้งของบริษัทไอทีวีเพื่อไปสอบถามกับทีมผู้บริหารถึงสภาพความเป็นสื่อของไอทีวี และได้พบกับผู้บริหารคนหนึ่ง แต่ไม่มีใครที่สามารถให้ข้อมูลได้
ทั้งนี้ มีผู้ที่ให้ข้อมูลการประชุมดังกล่าวว่าข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ไปอย่างไร และยังพบการทำบัญชีบางส่วนที่ปรากฏการว่าจ้างทำสื่อ ภายหลังไม่ได้ดำเนินกิจการมาแล้ว ดังนั้น เจ้าหน้าที่ต้องสืบค้นต่อว่าใครเป็นผู้ว่าจ้าง ขณะที่คนส่วนใหญ่ก็ทราบดีว่าพนักงานไอทีวีนับพันคนถูกเลิกจ้าง พร้อมได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐแล้ว ซึ่งนับแต่ถูกเลิกจ้างก็ไม่เคยดำเนินกิจการสื่อเลย เราก็ร่วมต่อสู้จนถึงวันที่ไอทีวีถูกปิด จึงต้องการจะเป็นตัวแทนที่จะหาคำตอบ หากทุกวันนี้ไอทีวียังเป็นสื่อจริงก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่ปัจจุบันศาลปกครองสูงสุดยังคงพิจารณาการตัดสินว่าไอทีวียังคงดำเนินกิจการหรือไม่.-สำนักข่าวไทย