สำนักงานกกต. 5 ก.พ.-“ทนายอั๋น” ร้อง กกต. เอาผิด “เรืองไกร” นำหลักฐานเท็จหุ้นไอทีวีมายื่น ประกาศไม่ปล่อย ต้องติดคุกเท่านั้น
นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น บุรีรัมย์ พร้อมด้วยนายวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล หรือ ลุงศักดิ์ ยื่นคำร้องต่อกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทวงถามความคืบหน้ากรณีที่เคยร้องให้กกต.เอาผิดนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ที่เคยยื่นเรื่องพร้อมหลักฐานให้ตรวจสอบกรณีการถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยก่อนหน้านี้ยื่นเรื่องต่อกกต.ตั้งแต่ 29 พฤษภาคม 2566 แต่ยังไม่คืบหน้า
นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการถือครองหุ้นสื่อของนายพิธาว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่มีสภาพเป็นสื่อสารมวลชน ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลผูกพันทุกองค์กร จึงมาตามเรื่องต่อ รวมถึงเตือนความทรงจำของนายเรืองไกร และกกต.เนื่องจากช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 นายเรืองไกรมายื่นต่อกกต.ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธา ว่าอาจจะมีความบกพร่องในคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้งการลงรับสมัครสส.เพราะถือครองหุ้นสื่อไอทีวี หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 ตนได้มายื่นร้องสวน เนื่องจากคำร้องนายเรืองไกรขาดเหตุผลไร้น้ำหนัก ขอให้กกต.ปัดตก เพราะเป็นเรื่องที่ไร้สาระ อาจจะเป็นเกมการเมืองเสียด้วยซ้ำ
นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า จากนั้นวันที่ 10 มิถุนายน 2566 นายเรืองไกรมาให้ถ้อยคำต่อกกต.ในฐานะที่เป็นพยานผู้ร้อง โดยนำหลักฐานรายงานการประชุมของบริษัทไอทีวี ฯ หลังจากนั้นมีข้อมูลเผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชนว่าพยานหลักฐานของนายเรืองไกร ที่ยื่นต่อกกต.อาจเป็นเท็จ ไม่ตรงกับคลิปวีดีโอที่เผยแพร่เรื่องที่นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานบริษัทไอทีวีฯ ถามตอบกับผู้ถือหุ้นว่าไอทีวีไม่มีสภาพความเป็นสื่อสารมวลชน รวมถึงไม่ได้ประกอบกิจการ อีกทั้งระบุว่าไอทีวีอยู่รอวันตาย รอศาลสั่ง ซึ่งขัดกับสิ่งที่นายเรืองไกรเสนอต่อกกต. เป็นเหตุให้ในวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ตนมาร้องต่อกกต.เพื่อโต้ว่าเอกสารของนายเรืองไกรอาจเป็นเท็จ จึงขอให้กกต.ตรวจสอบว่าพฤติกรรมของนายเรืองไกร ไม่ว่าจะเป็นการให้ถ้อยคำ การนำหลักฐานเข้าสู่ระบบของกกต. 6 ครั้ง เข้าข่ายความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส.มาตรา 143 มีโทษจำคุก 7-10 ปี
นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นใจให้กับตน วันนี้จึงมาตามเรื่องที่กกต.ตกลงจะเอาอย่างไรกับนายเรืองไกร ที่มายื่นยุบพรรคก้าวไกล แม้ 31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีล้มล้างการปกครองของนายพิธา นายเรืองไกรมายื่นร้องยุบพรรคก้าวไกลต่อในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จะดูว่ากกต.จะเอาอย่างไร ระหว่างเรื่องที่ตนมาร้องของให้ยุบพรรคภูมิใจไทยตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 กับเรื่องของนายเรืองไกร จะเอาเรื่องไหนยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญก่อน จะลัดคิวให้เขาหมดเลยหรือไม่
“เรื่องหุ้นสื่อของคุณพิธา ผมมองว่าวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ที่ผมได้มาร้องได้ปักหมุดไว้ที่นี่แล้ว พระแม่ธรณีเป็นพยาน ผมกับนายเรืองไกรวัดกันให้ตายไปข้างนึง วัดกันให้ติดคุกไปข้างนึง ไม่ว่าจะออกหน้าไหนคุณพิธาจะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ พรรคก้าวไกลจะถูกยุบหรือไม่ ผมไม่สนใจ ผมสนใจแค่หุ้นสื่อไอทีวี พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสส.มาตรา 143 นายเรืองไกรต้องติดคุก ขอกกต.อย่าอุ้มเรืองไกร” นายภัทรพงศ์ กล่าว
นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า ช่วงปี 2566 เคยยื่นต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ให้ตรวจสอบกกต.ชุดนี้ เพราะการทำคดีหุ้นสื่อมีพิรุธมากมาย ข้ามขั้นตอน ลัดวิธีการ ไม่นำระเบียบแบบแผนของกฎระเบียบที่ตัวเองสร้างมา ไม่เรียกนายพิธาเข้ามาในชั้นสอบสวนของกกต. แต่ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญเลย ซึ่งหลังจากศาลมีคำวินิจฉัย นายเรืองไกร ระบุว่าทำตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ตรวจสอบ ถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนมีมาตราไหนที่อนุญาตให้คนไปร้องหลักฐานเท็จเข้าสู่ระบบ ไม่มี ไม่ยอมปล่อย นายเรืองไกรต้องติดคุก
เมื่อถามว่าจะดำเนินการอย่างไรกับกกต.ในฐานะผู้รับเรื่องและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า เรื่องหุ้นสื่อ นอกจากนายเรืองไกรแล้ว ตนยังมองว่ากกต.อาจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยตนจะไปตามเรื่องที่เคยยื่นให้ป.ป.ช.ตรวจสอบการทำหน้าที่ของกกต.
“ปรากฏว่าหุ้นสื่อไอทีวี ไม่ใช่เฉพาะเรืองไกร มีนายศรีสุวรรณ จรรยานายสนธิญา สวัสดีและกลุ่มสว. เอาเป็นว่าไม่ว่าใครหน้าไหน ไม่ว่าหน่วยงานใด องค์กรไหน ที่บังอาจเอาหลักฐานอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบกกต. กกต.ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนในชั้นศาลรัฐธรรมนูญจนกระทั่งนำสู่การวินิจฉัยเป็นคดีหุ้นสื่อ ใครบังอาจทำอย่างนั้น โดนหมดครับ ผมตรวจสอบหมด” นายภัทรพงศ์ กล่าว
นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า จากนี้ตนจะเดินทางไปทวงถามความคืบหน้าการยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบและเอาผิดการทำหน้าที่ของ กกต.ชุดนี้ในการพิจารณาคำร้องการถือครองหุ้นสื่อมวลชนฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย.-314.-สำนักข่าวไทย