ศาลรัฐธรรมนูญ 24 ม.ค.-มติศาล รธน. 8:1 “พิธา” ยังมีสถานะเป็น สส. หลังพบไอทีวีหมดสิทธิ์ประกอบกิจการสื่อฯ หลังคืนสัญญาณให้สปน. ไร้พนักงาน ไม่มีรายได้ ปธ.ศาลติงให้สัมภาษณ์ก่อนชี้ขาดไม่เหมาะสม ยันความล่าช้าไม่ได้เกิดจากศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ไม่มีลักษณะต้องห้าม และสามารถลงสมัครเลือกตั้งสส.ได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพการเป็น สส.ของนายพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ หลังกกต.พบการถือครองหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนในวันสมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ ของนายพิธา ในฐานะผู้จัดการมรดก โดยถือเป็นลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า บริษัท ไอทีวีฯ ได้ยุติกิจการและอยู่ระหว่างข้อพิพาทคดีกับสำนักปลักสำนักนายกรัฐมนตรี หลังเคยมีสัญญาร่วมกันตั้งแต่ปี 2538 เป็นระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2550 หลังสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีบอกเลิกสัญญา ซึ่งบริษัทไอทีวีฯ ได้แจ้งไปยังสำนักงานประกันสังคมแล้วว่า ไม่มีพนักงาน เนื่องจาก ยุติการดำเนินกิจการชั่วคราว ตั้งแต่วันดังกล่าวถึงปัจจุบัน และเมื่อตรวจสอบงบการเงิน รวมถึงเอกสารเงินได้ของบริษัทไอทีวีฯ ที่เคยดำเนินกิจการสื่อโทรทัศน์ โฆษณา พบงบการเงินและรายได้จากธุรกิจสื่อมวลชนของบริษัทไอทีวีฯ เป็น 0 บาท และมีรายได้จากดอกเบี้ยรายรับ
นอกจากนั้นยังพบปรากฏข้อเท็จจริง ตั้งแต่ปี 2560-2565 ที่บริษัทไอทีวีฯ ยุติการดำเนินกิจการตั้งแต่สำนักปลักสำนักนายกรัฐมนตรีบอกเลิกสัญญาไปแล้ว ทำให้คลื่นสัญญาณกลับมาเป็นของสำนักปลักสำนักนายกรัฐมนตรี และสุดท้ายแม้ไอทีวีจะชนะคดีก็ไม่มีผลให้บริษัทไอทีวีฯ ได้รับมอบคลื่นความถี่คืน ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงสรุปได้ว่า บริษัทไอทีวีฯ ไม่มีสิทธิ์ประกอบกิจการสื่อมวลชนตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 และไอทีวี ยังคงสถานะนิติบุคคลไว้เพื่อดำเนินคดีในศาลเท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏรายได้จากการทำสื่อ แต่มีรายได้จากการลงทุนและดอกเบี้ยรับเท่านั้น ดังนั้น เมื่อวันที่นายพิธาลงสมัครรับเลือกตั้ง บริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใด ๆ การถือหุ้นของนายพิธาจึงไม่มีลักษณะต้องห้าม และสามารถลงสมัครเลือกตั้งได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพสส.ของนายพิธาไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ
นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงสาเหตุความล่าช้าของคดีนี้ว่า ศาลฯ เคยแจ้งคู่ความในคดีนี้ ให้ทราบว่าผู้ถูกร้องหรือนายพิธา ได้ขอขยายเวลาการชี้แจงต่อศาล 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน รวม 60 วัน ทั้งที่คดีดังกล่าวควรเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ 60 วันที่แล้ว ยืนยันว่าศาลไม่ได้ล่าช้าและตำหนิการแสดงความเห็นเกี่ยวกับคดีผ่านสื่อมวลชน ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควร ไม่เหมาะสม เพราะอาจเป็นการชี้นำกดดันศาลได้.-312.-สำนักข่าวไทย